โธ่...แค่ไม่กี่องศา | วรากรณ์ สามโกเศศ

โธ่...แค่ไม่กี่องศา | วรากรณ์ สามโกเศศ

ฤดูร้อนปีที่ผ่านไปนี้ คนไทยสังเกตได้ชัดว่าอากาศร้อนกว่าหลายปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันจะร้อนแบบนี้ต่อไป หรือร้อนมากกว่านี้ด้วย ทั้งหมดมาจากวิกฤติภูมิอากาศ (climate crisis) ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามโลกยิ่งขึ้นทุกทีหากชาวโลกไม่ช่วยกันแก้ไข

ทั้งหมดนี้เห็นได้จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน ข้อกังขาก็คืออะไรกัน เพียงไม่กี่องศาจะมีผลขนาดนี้เชียวหรือ

อุณหภูมิ 3 องศาฟาเรนไฮต์ คือ ข้อแตกต่างระหว่างทารกมีไข้สูงกับทารกปกติ ระหว่างอาหารกำลังจะเริ่มเสียกับอาหารในอุณหภูมิปลอดภัย และระหว่างอยู่ในลานสเกตน้ำแข็งกับอยู่ในสระว่ายน้ำ ฯลฯ 3 องศา หรืออุณหภูมิใกล้เคียงสามารถสร้างข้อแตกต่างได้มากในหลายเรื่อง และในเรื่องอุณหภูมิอากาศของโลกก็เช่นกัน

ปัจจุบัน นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเรื่องวิกฤติภูมิอากาศ ยืนยันว่าแค่เพียงร้อนขึ้น 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลเสียอย่างมหาศาล ดังนั้น ตัวเลข 2.7 จึงชี้ชะตากรรมของโลกใบนี้ในอนาคต ความร้อนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบกว้างไกลต่อชีวิตของสรรพสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ที่มีอายุ 4,500 ล้านปี

ตัวเลข 2.7 องศาฟาเรนไฮต์อาจฟังดูแปลกหู เพราะในเรื่องนี้เคยได้ยินแต่ตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียส จริงๆ แล้วมันก็ตัวเลขเดียวกัน เพียงแต่วัดด้วยสเกลที่แตกต่างกันภายใต้วัตถุประสงค์ของ Paris Agreement ที่ 196 ประเทศ ลงนามร่วมกันในข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤติภูมิองศาในปี 2558

โดยมุ่งควบคุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ (เท่ากับ 1.5 องศาเซลเซียส) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุมไม่ไหวก็ต้องไม่เกินกว่า 3.6 องศาฟาเรนไฮต์ ก่อนหน้าปี 2643

ฟังแล้วเวียนหัวเพราะมีสองตัวเลขคือ 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ (F) หรือ 1.5 องศาเซลเซียส (C) เพื่อให้ท่านผู้อ่านวิงเวียนมากขึ้น ขอเท้าความถึง 2 ระบบวัดความร้อนสักนิด ฟาเรนไฮต์ (Fahrenheit) เป็นหน่วยวัดอุณหภูมิแรกที่ใช้กันตั้งแต่ปี 2267 โดยแพทย์ผู้คิดค้นคือ Daniel Gabriel Fahrenheit (พ.ศ.2229-2279) ภายใต้สเกลนี้จุดเดือดคือ 212 องศา และจุดเยือกแข็งคือ 32 องศา 

สเกลนี้ถูกใช้มาเรื่อยจนถูกทดแทนโดยหน่วยวัดเซลเซียส (Celsius) ประมาณตอนกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 (พ.ศ.2493-2543) จุดเดือดคือ 100 องศาและจุดเยือกแข็งคือ 0 องศา จุดเด่นของสเกลนี้ก็คือ ทำให้เข้าใจได้ง่ายเพราะเป็นระบบเมตริก

ขณะนี้ทั้งโลกใช้เซลเซียส หรือ C ในขณะที่มีประเทศเดียวที่ใช้ฟาเรนไฮต์ หรือ F อย่างเหนียวแน่นคือ สหรัฐ อย่างไรก็ดี มีบางประเทศที่ใช้ทั้งองศา F และ C เช่น อังกฤษซึ่งมักใช้ฟาเรนไฮต์ในเรื่องอุณหภูมิอากาศ และอาหารเพราะความเคยชิน แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้วใช้ C ทั้งหมด

สรุปแล้ว 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ซึ่งเท่ากับประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส คือ ตัวเลขสำคัญ มันฟังดูแล้วน้อยมากจนไม่น่าสลักสำคัญแต่อย่างใด แต่หากพิจารณาความจริงว่าขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกินกว่าเมื่อ 200 ปีก่อนอยู่แล้วประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส และกำลังอุ่นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในปี 2566 อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรก็ร้อนกว่าที่เคยวัดกันมาก่อนทั้งสิ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่นนี้นำไปสู่การแปรปรวนของภูมิอากาศ และเมื่อประกอบกับปัจจัยอื่นๆ จึงเกิดพายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง ไฟไหม้ป่า คลื่นความร้อนอากาศหนาวฉับพลัน ฯลฯ บ่อยกว่าที่เคยมีมา

แท้จริงแล้วขณะนี้นักวิทยาศาสตร์พอมองเห็นแล้วว่า การทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ ก่อนถึงปี 2643 นั้นเป็นเรื่องที่ยากขึ้นทุกที

ขณะนี้งานศึกษาวิจัยจำนวนหลายชิ้นของ U.N.’s Intergovernmental Panel on Climate Change ได้ชี้ว่าหากโลกหลุดจากตัวเลขเพิ่มขึ้น 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ (เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส) ไปเป็นเพิ่มขึ้นถึง 3.6 องศาฟาเรนไฮต์ (เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส) แล้วสิ่งต่อไปนี้จะเกิดขึ้น

  1. ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นก่อนถึงปี 2643 ประมาณ 4 นิ้ว (จาก 18 เป็น 22 นิ้ว)
  2. โอกาสที่ขั้วโลก Arctic จะมีก้อนน้ำแข็งในทะเลปกคลุมพื้นที่น้อยกว่าหนึ่งล้านตารางกิโลเมตรในฤดูร้อนสูงขึ้น 70% (จาก 10% เป็น 80%)
  3. ภาคกลางของสหรัฐจะร้อนชนิดผิดปกติเพิ่มขึ้น 11 วัน (จาก 10 เป็น 21 วัน)
  4. ความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงอย่างน้อยครั้งหนึ่งภายในเวลา 5 ปี สูงขึ้น 23% (จาก 14% เป็น 37%)

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากโลกหลุดจาก 2.7 องศาฟาเรนไฮต์ สิ่งที่ต้องพยายามลดลงให้ได้คือการเผาไหม้เมื่อ 200 ปีก่อนตอนเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรม มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในอากาศ 280 ส่วนในล้านส่วน ปัจจุบันตัวเลขเดียวกันคือ 421.47 ส่วนในล้านส่วน

หาก 2.7 องศา F หรือ 1.5 องศา C คือ เป้าหมายและขณะนี้โลกร้อนขึ้นแล้ว 1.1 องศา C ก็หมายความว่าโลกต้องต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สูงขึ้นอีก 0.4 องศา C (1.5 ลบ 1.1 ) โดยจัดการกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ออกไปในบรรยากาศให้น้อยที่สุดด้วยมาตรการต่างๆ โดยก่อน พ.ศ.2573 ต้องลดให้ได้ถึงครึ่งหนึ่งของการปล่อยในช่วงปี 2553-2563

หากไม่บรรลุเป้า 1.5 องศาเซลเซียส แล้ว มนุษย์จะเผชิญกับมหันตภัยอย่างไม่เคยพบมาก่อน สมาชิกทุกคนของ 8,000 ล้านคน บนโลกใบนี้ต้องช่วยกันเอาชนะไม่ให้เพิ่มอีก 0.4 องศาเซลเซียสให้จงได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์