การประชุม COP28 กับการจัดการวิกฤติโลกรวน

การประชุม COP28 กับการจัดการวิกฤติโลกรวน

การประชุม COP28 กำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 12 ธ.ค.2566 ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้นำระดับโลกทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการมาหารือกัน เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงรุกมากขึ้น

ประชาคมโลกคาดหวังให้การประชุมให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญเพื่อปรับปรุงการดำเนินการที่สำคัญด้านสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังไม่ลดลง การหยุดการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์

ในปัจจุบัน แม้ว่าโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงทันที แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากมนุษย์ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2562 ก่อนจะลดลงเล็กน้อยในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ก็ลดลงเนื่องจากสถานการณ์วิกฤติบังคับให้งดการเดินทางกันทั่วโลก

แนวโน้มอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ก่อให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ธารน้ำแข็งละลาย และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนต่างๆ ทั่วโลกดังที่เราเห็นข่าวความรุนแรงของสภาพอากาศทั่วโลกมาโดยตลอด

การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ที่ 1.5°C เป็นเรื่องที่ยากมากจนอาจเป็นไปไม่ได้หากไม่ดำเนินการอย่างก้าวกระโดด หรือดำเนินการแบบฟอกเขียว (greenwashing)

เนื่องจากการดำเนินการจำเป็นต้องเอาชนะอุปสรรคหลายประการ รวมถึงการต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และอุปสรรคจากการลงทุนที่ไม่เพียงพอในเทคโนโลยีคาร์บอนเป็นศูนย์ที่เกิดขึ้นใหม่

ภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง สงครามและความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจและประเทศต่างๆ ยิ่งทำให้ความพยายามในการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศสูงมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น

ความซับซ้อนและอุปสรรคเหล่านี้คงจะเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันในการประชุม COP28

การประชุม COP28 กับการจัดการวิกฤติโลกรวน

คำถามหนึ่งที่สำคัญคือปัจจุบัน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างไรบ้างหลังจากที่มีการประชุมและการให้พันธสัญญาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันมาหลายปีแล้ว

รายงานสถานการณ์การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศปี 2023 ได้ตอบคำถามดังกล่าว โดยนำเสนอข้อมูลล่าสุดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานได้ประเมินตัวชี้วัดสำคัญ 42 ตัวที่เกี่ยวกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ด้านพลังงาน อาคาร อุตสาหกรรม การขนส่ง ป่าไม้ ที่ดิน อาหาร เกษตรกรรม การกำจัดคาร์บอนทางเทคโนโลยี และการเงินด้านสภาพภูมิอากาศ

รายงานได้แสดงข้อมูลที่น่าตกลงใจว่า จาก 42 ตัวชี้วัดที่ประเมินนั้น มีถึง 41 ตัวชี้วัดที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อให้เป็นไปตามระดับการเพิ่มอุณหภูมิไม่เกิน 1.5°C ในปี 2573 และตัวชี้วัดถึง 24 ตัวที่อยู่นอกเส้นทางอย่างมาก ซึ่งจำเป็นต้องเร่งความพยายามอย่างน้อยสองเท่า ที่จะบรรลุเป้าหมายปี 2573

รายงานดังกล่าวยังพบข้อมูลที่น่าตกใจอีกว่าตัวชี้วัด 6 ตัวกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับเป้าหมาย ความล้มเหลวที่โดดเด่นที่สุดคือตัวชี้วัดการยกเลิกการจัดหาเงินทุนสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล ตัวชี้วัดการลดการตัดไม้ทำลายป่า และตัวชี้วัดการขยายระบบการกำหนดราคาคาร์บอน

การประชุม COP28 กับการจัดการวิกฤติโลกรวน

ในปี 2564 การจัดหาเงินทุนสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ไม่ได้ลดลงอย่างที่ต้องการ โดยแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 ล้านเฮกตาร์ (36.2 ล้านไร่) ในปี 2565 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อป่าดิบชื้นเขตร้อนซึ่งมีความสำคัญต่อการกักเก็บคาร์บอนและความหลากหลายทางชีวภาพ

ท่ามกลางข้อมูลเชิงลบเหล่านี้ มีสัญญาณเชิงบวกอยู่เล็กน้อยคือ ตัวชี้วัดส่วนแบ่งของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในการขายรถยนต์ขนาดเล็ก นั้นเป็นไปตามเป้าหมาย และมีตัวชี้วัด 6 ตัวที่กำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่อยู่ในความเร็วที่ไม่เพียงพอ

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายปี 2573 โลกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามอีกมหาศาลในการดำเนินการที่สำคัญ  5 ประการ ได้แก่

หนึ่ง ส่งเสริมการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยตั้งเป้าให้เทคโนโลยีเหล่านี้คิดเป็น 24% ของการผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในปัจจุบันที่ 14%

สอง ยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าในอัตราเร็วกว่าความพยายามในปัจจุบันถึง 7 เท่า ซึ่งเท่ากับการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเฉลี่ยประมาณ 240 แห่งต่อปีจนถึงปี 2573

สาม ขยายโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งในอัตราเร็วกว่าความพยายามในปัจจุบัน 6 เท่า ซึ่งเทียบเท่ากับการสร้างระบบขนส่งมวลชนซึ่งมีขนาดเป็น 3 เท่าของขนาดเครือข่ายของนครนิวยอร์กในแต่ละปีในทศวรรษนี้

การประชุม COP28 กับการจัดการวิกฤติโลกรวน

สี่ ลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าเร็วขึ้น 4 เท่า

ห้า เปลี่ยนไปใช้อาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น โดยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์จากวัว แพะ และแกะ ให้เหลือเพียง 2 หน่วยบริโภคต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น

การประชุม COP28 จึงควรสร้างให้เกิดความก้าวหน้าเชิงรุกอย่างเร่งด่วนในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากหน้าต่างแห่งโอกาสที่มีในการแก้ไขปัญหาน้อยลงไปทุกขณะ ก่อนที่ประชาชนทั่วโลกจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างที่จินตนาการไม่ได้

ด้วยสิ่งที่ต้องทำร่วมกันทั้งโลกนั้นมีความยากมากขึ้นทุกขณะ ภาครัฐไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ในการรองรับและปรับตัวกับผลกระทบจากโลกรวนกันอย่างจริงจัง เพราะนี้คือวิกฤติที่แท้จริง.