โลกร้อน สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตกว่าล้านชนิดถูกคุกคาม

โลกร้อน สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์  สิ่งมีชีวิตกว่าล้านชนิดถูกคุกคาม

ผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไม่เพียงกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสัตว์หลายชนิดซึ่งเสี่ยงสูญพันธุ์ และกระทบความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นประเด็นเร่งด่วนและท้าทาย

สถิติต่าง ๆ ล้วนยืนยันว่า โลกของเรากำลังเข้าสู่ สภาวะโลกร้อน ที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่ความตกลงปารีสพยายามยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกได้เพิ่มไปกว่า 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว สะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ในปัจจุบัน

โลกร้อน กระทบสัตว์บก

ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคเสถียร เผยรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ คาดการณ์ความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสัตว์บก ว่าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส อาจมีสัตว์บกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงถึง 14 % หากอุณหภูมิสูงขึ้นระดับ 2 องศาเซลเซียส ความเสี่ยงอยู่ที่ 18 % และความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 29 % หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส และเสี่ยงสูงถึง 39 % หากโลกร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียส และสูงถึง 48 % หากโลกร้อนขึ้น 5 องศาเซลเซียส

สัตว์ทะเล หนีร้อนไปพึ่งเย็น

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสัตว์ทะเล กรีนพีซ ประเทศไทย เผยข้อมูลงานวิจัยที่ระบุว่า มหาสมุทรบริเวณรอบๆ เส้นศูนย์สูตรเริ่ม “ร้อน” เกินไปสำหรับสัตว์ทะเลหลายชนิด พวกมันจะไม่รอดหากอาศัยอยู่ในน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป ซึ่งตัวการสำคัญของเหตุการณ์นี้คือ “ภาวะโลกร้อน” สภาพของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง สัตว์หลายสายพันธุ์กำลังอพยพไปอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำเย็นขึ้น ใกล้กับขั้วโลกมากขึ้น สถานการณ์นี้มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและวิถีชีวิตมนุษย์

ย้อนกลับไปเมื่อ 250 ล้านปีก่อนได้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และในขณะนั้นมีสัตว์ทะเลกว่า 90 % จากสายพันธุ์ทั้งหมดตายลง จะเห็นว่า เมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น สัตว์ทะเลจึงจำเป็นต้องอพยพเพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการใช้ชีวิต พวกมันเริ่มย้ายขึ้นมาใกล้กับขั้วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้จำนวนสัตว์ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรลดลง

โลกร้อน สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์  สิ่งมีชีวิตกว่าล้านชนิดถูกคุกคาม

“หมีขั้วโลก-เพนกวิน” น่าห่วง

อีก ด้านของขั้วโลก ก็ถูกผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนเช่นกัน รายงานขององค์กรอนุรักษ์ Polar Bears International เผยให้เห็นว่า “หมีขั้วโลก” ซึ่งต้องการ “แผ่นน้ำแข็ง” ที่สามารถเข้าถึงเหยื่อ แต่เมื่อน้ำแข็งในทะเลละลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่ง หมีขั้วโลกจึงถูกบังคับให้ขึ้นบกโดยปราศจากอาหารและต้องอยู่รอดด้วยไขมันที่สะสมไว้ล่วงหน้า จนกระทั่งไขมันสะสมหมดสิ้น สิ่งนี้นำไปสู่การลดลงของประชากรในที่สุด นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า หมีขั้วโลก ส่วนใหญ่อาจสูญพันธุ์ได้ในช่วงปลายศตวรรษ เว้นแต่ภาวะโลกร้อนจะถูกจำกัดไว้

ทั้งนี้ ผลวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสาร PLOS Biology ยังพบว่า แผ่นน้ำแข็งที่หายไป ส่งผลกระทบต่อเพนกวินจักรพรรดิ และ

เพนกวินอาเดลี ที่ต้องพึ่งพาน้ำแข็งในเดือน เม.ย.-ธ.ค. เพื่อสร้างรังสำหรับลูกน้อย หากน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วหรือน้ำแข็งเกิดช้าในฤดูถัดไป เนื่องจากอุณหูมิสูงขึ้น เพนกวินอาจสืบพันธุ์ได้ยากลำบาก อีกทั้ง เพนกวินจักรพรรดิ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวที่สุดในแอนตาร์กติกา ซึ่งสมมติฐานที่แย่ที่สุด ระบุว่า เพนกวินชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2100

และเมื่อไม่นานมานี้ มีการพบซาก “เพนกวินมาเจลลัน” กว่า 2,000 ตัว ถูกซัดมาเกยตื้นตายอยู่บริเวณชายหาดอุรุกวัย ในสภาพที่ซูบผอมผิดปกติ และจากการตรวจสอบพบว่ากว่า 90 % ของเพนกวินเหล่านั้น ไม่มีไขมันสำรองในร่างกายและไม่มีอาหารเหลืออยู่ในท้อง ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเพนกวินตายเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหานี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ในปี 2010 และอาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประชากรเพนกวินมา

เจลลันมีจำนวนลดลง

 

รายงานจากบัญชีแดงของ IUCN ประเมินไว้ว่า มีเพนกวินมาเจลลันตายจากมลพิษน้ำมันไปแล้วถึง 20,000 ตัว นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากอุตสาหกรรมการประมงขนาดใหญ่ และปัญหาใหญ่ที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะนอกจากจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของพวกมันเสียหายจากการโดนน้ำท่วมแล้ว ยังทำให้พวกมันไม่มีอาหารกินด้วย

ขณะเดียวกัน “พะยูน” ในแอฟริกาตะวันออก ยังลดลงเหลือน้อยกว่า 250 ตัว และมีน้อยกว่า 900 ตัว นิวแคลิโดเนีย ของฝรั่งเศส ด้าน “หอยเป๋าฮื้อ” ถูกจัดให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เป็นครั้งแรก โดยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสีแดง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์อยูในระดับที่สอง ซึ่งนอกจากการที่ถูกชาวประมงงมเก็บโดยไม่มีการอนุรักษ์แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ก็มีส่วนที่ทำให้เป๋าฮื้อตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงด้วย

อนึ่ง บัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN หรือ International Union for Conservation of Nature Red List of Threatened Species) สถาบันหลักที่มีอำนาจในการระบุฐานะสถานภาพต่าง ๆ ของสปีชีส์พืชและสัตว์ทั่วโลก ระบุว่า สัตว์ป่าและพืชป่ามากกว่า 8,400 สายพันธุ์ อยู่ในสถานะกำลังใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และอีกกว่า 30,000 สายพันธุ์ กำลังใกล้สูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จากการประมาณการเหล่านี้ สรุปได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตมากกว่า 1,000,000 ชนิดถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์ และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง จากฝีมือมนุษย์และภัยธรรมชาติ