วิธีซื้อ-ขาย“น้ำมันพืชใช้แล้ว”ไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

วิธีซื้อ-ขาย“น้ำมันพืชใช้แล้ว”ไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

น้ำมันพืชใช้แล้ว ไม่ว่าจะทอดหรือผัด อาจเป็นสิ่งของที่ต้องนำไปทิ้งเพราะการใช้ซ้ำอาจหมายถึงอันตรายต่อสุขภาพ แต่จากนี้ไปสิ่งเหลือทิ้งอย่างน้ำมันใช้แล้วกำลังจะมีมูลค่า จากการกำหนดราคารับซื้อในตลาดทั่วไป

สาเหตุที่ของเหลือทิ้งนี้กลายเป็นสินค้ามีราคาเพราะน้ำมันพืชใช้แล้วเหล่านี้จะนำไปผลิต เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน : Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 80%เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงโดยปกติ อีกทั้ง สามารถใช้ผสมในน้ำมันเครื่องบินในปัจจุบัน (Jet A1) ได้ทันทีและมีความปลอดภัย และสอดคล้องกับเป้าหมายองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) รวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) สู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนเป็นศูนย์ (net zero goal) ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปี ค.ศ. 2050

สำหรับกลไกการซื้อน้ำมันพืชใช้แล้ว มีความพยายามสร้างเครือข่ายที่ชัดเจนและน่าสนใจมาก

โดยล่าสุด ธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมัน บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ธนโชคน้ำมันพืช (2012)จำกัด จนมีทุนจดทะเบียน60ล้านบาท โดยบางจากฯ ถือหุ้นในสัดส่วน45%ซึ่งการร่วมทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil, UCO)วัตถุดิบในการผลิตน้ำมันอากาศยานSAFของ บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด 

“ล่าสุดได้ร่วมมือกับบริษัท สปาเก็ตตี้แฟคทอรี่ จำกัดผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารSpaghetti Factoryและร้านอาหารในเครือ10สาขา รวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำไปผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน”

ด้านผู้ใช้น้ำมันอย่างสายการบินแห่งชาติอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) นำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ใช้นำร่องกับเที่ยวบินของการบินไทยในเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้สัญญาณการผลิตและใช้น้ำมันSAF จะมีการตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัดแต่ในทางปฎิบัติจริงถนนแห่งความยั่งยืนก็ยังไม่ราบรื่นสดใสนักแม้จะปูด้วยก้อนเมฆบนท้องฟ้าก็ตาม

วิธีซื้อ-ขาย“น้ำมันพืชใช้แล้ว”ไปผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่าเป้าหมายของ ทอท.ต้องการเป็น Net Zero ภายใน 10 ปี  กลยุทธ์ที่หนึ่ง คือการส่งเสริมและผลักดันน้ำมันเชื้อเพลิงยั่งยืน ซึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีผลิตในไทยปัจจุบัน จึงมีราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงปกติประมาณ 8 เท่า 

ดังนั้น ทอท.จะมองหาพันธมิตรในการพัฒนา SAF ในไทย เพื่อให้ต้นทุนลดลงเหลือ 2.2 เท่า เป็นโอกาสให้สายการบินได้ใช้ และไม่ถูกกีดกันการค้าจากยุโรปที่ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำมัน SAF

“ปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปมีเงื่อนไขกำหนดว่าภายในปี 2025 สายการบินต้องมีน้ำมัน SAF ผสมอยู่ในกระบวนการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินราว 2% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะพัฒนาน้ำมันนี้ ทำให้การลงทุนและสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่ส่วนสำคัญจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน”

ด้านชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมัน SAF ในฝูงบินของการบินไทย โดยได้เริ่มต้นใช้น้ำมัน SAF ในปีนี้ปริมาณ 1.6 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2025 ปริมาณ 2.2 ล้านตัน ซึ่งผลแตกต่างของการใช้น้ำมัน SAF และน้ำมันเชื้อเพลิงปกติ หากใช้น้ำมัน SAF 1% จะมีส่วนต่างต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นหากการบินไทยเพิ่มปริมาณน้ำมัน SAF 10% ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาท

“โรดแมพของการบินไทย 2025 จะต้องใช้ SAF 2% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้การบินทั้งหมด และเพิ่มต่อเนื่องเพื่อผลักดันเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 โดยอาจจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 60% แต่เป้าหมายเหล่านี้ปัจจุบันยังไม่มีการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ โดยSAF ราคาต้นทุนในสิงคโปร์สูงกว่าน้ำมันปกติ 3 เท่ากว่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสายการบินเพิ่มขึ้น”

ถึงเวลานี้ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจว่าน้ำมัน SAF และช่วยกันทำให้ต้นทุนจับต้องได้เพื่อร่วมกันใช้และผลักดันสู่เป้าหมายความยั่งยืนให้ได้ ไม่ใช่เพื่อใครเเต่เพื่อเราทุกคน อย่างน้อยก็รู้ว่าน้ำมันใช้แล้วอย่าทิ้งขายได้