ข้อเสนอไทยต่อเวทีโลก COP 28 พร้อมช่วยลดโลกเดือด

ข้อเสนอไทยต่อเวทีโลก COP 28 พร้อมช่วยลดโลกเดือด

ผู้นำโลกจากเกือบ 200 ประเทศจะมารวมตัวกัน เพื่อประสานงานการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลก ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UNFCCC COP 28) ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค.2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Keypoint:

  • ทส.ประกาศไทยพร้อมร่วมประชุมCOP 28 เตรียมประเด็นนำเสนอ ขอความชัดเจนเป้าหมาย Climate Finance) เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • นำผลสำเร็จการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย 4 ประเด็นหลัก สู่เป้าหมายการมีส่วนร่วม 40% ภายในปี ค.ศ.2030
  • จัดนิทรรศการ โชว์นวัตกรรม ข้อมูล แผนแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดึงต่างชาติร่วมสนับสนุนการดำเนินงานลดโลกเดือด

โดยในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการหารือเกี่ยวกับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความหวังที่ว่า COP28 จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในระยะยาวให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่สร้างความเสียหายมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ การประชุม COP 28 จะมุ่งเน้นไปที่

1.ติดตามเร่งรัดการมุ่งหน้าสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ก่อนปี 2030 เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส

2.ส่งมอบงบประมาณเพื่อมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศจากประเทศที่ร่ำรวยมายังกลุ่มประเทศยากจน รวมทั้งร่วมทำงานเพื่อให้บรรลุข้อตกลงใหม่ๆ สำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

3.เน้นย้ำถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและมนุษย์

4.ส่งเสริมให้การประชุม COP28 มีความครอบคลุมในประเด็นปัญหามากที่สุด

ด้วยความมุ่งมั่นของประเทศไทย ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด 40% ภายในปี ค.ศ.2030 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ประเทศไทยต้องไปต่อ COP28 Net Zero รัฐบาลใหม่ยังจริงจังอยู่ไหม?

ทั่วโลกหนุน 'เลิกใช้ถ่านหินในทศวรรษนี้' เห็นชอบเพิ่มพลังงานทดแทน

 

ข้อเสนอของไทยในเวทีโลก COP 28

วันนี้ (15 พ.ย.2566) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงข่าวการเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ของประเทศไทย ว่าการประชุมครั้งนี้ COP28 ผู้นำในแต่ละประเทศจะมาหารือถึงประเด็นต่างๆ รวมถึงแนวทางที่แต่ละประเทศไปดำเนินการ เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียล ทำอย่างไรเพื่อให้โลกไม่เดือด โดย 197 ประเทศต้องร่วมมือกัน ซึ่ง การประชุม COP 28 ในปีนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมถึงคณะเป็นผู้แทน ของประเทศไทย เข้าร่วม

ประเด็นการเจรจาที่สำคัญใน COP 28 จะประกอบด้วย

  • การประเมินสถานการณ์ดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST) 
  • การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Goal on Adaptation: GGA)
  • เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ.2025 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้

“การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Work Programme) ให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส จะต้องมีการจัดตั้งกองทุนสำหรับการสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”นายปวิช กล่าว

 

แก้ปัญหาโลกร้อนของไทยสู่ประชาคมโลก

นายปวิช กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นการแสดงบทบาทในเชิงบวกของประเทศไทยในการให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขยายโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน เทคโนโลยี วิชาการในการจัดการ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก

รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเตรียมการทำงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้ประสานงานหลักระดับประเทศของอนุสัญญาทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับท้องถิ่น

โดยข้อตัดสินใจจากการประชุม COP 28 เมื่อสิ้นสุดการประชุม จะมีการสรุปผลการประชุมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ กรณีที่มีข้อริเริ่ม (Initiative) ที่ภาคีจะต้องให้การรับรอง/เข้าร่วมในช่วงของการประชุม COP 28 และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมรับรอง/เข้าร่วม

4 ประเด็น ไทยขับเคลื่อนลดโลกเดือด

ประเทศไทยจะนำผลสำเร็จของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (TCAC 2023) ที่ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกัน เสนอต่อที่ประชุมรัฐภาคี COP 28 ใน 4 ประเด็นหลัก คือ

  1. การขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่
  2. เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  3. กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
  4. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ

นิทรรศการโชว์นวัตกรรม ดึงต่างชาติสนับสนุนไทย

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP) เป็นประจำทุกปี โดยมีผู้แทนจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้เข้าร่วมการประชุมอย่างเคร่งครัดมาตลอดทุกปี

ปีนี้ได้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566  ณ Expo City รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  การประชุมประกอบด้วย การประชุมระดับผู้นำ ได้แก่

  • การประชุม World Climate Action Summit ระหว่างวันที่ 1 - 2  ธันวาคม 2566  ซึ่งเป็นการประชุมสำหรับประมุขของรัฐ และหัวหน้ารัฐบาล
  • การประชุม High-level Segment ระหว่างวันที่ 9 - 10 ธันวาคม 2566  ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล 
  • การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 (การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือG77 และจีน (Group of 77 and China)
  • การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 (COP 28) 
  • การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 18 (CMP 18)
  • การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 5 (CMA 5) การประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยที่ 59 (SBSTA 59)
  • การประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงานสมัยที่ 59 (SBI 59)

โดยคาดว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม COP 28 จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน จากประเทศสมาชิก 197ประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ

ทั้งนี้ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ผลการดำเนินการของประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการเผยแพร่ข้อมูล และนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยสู่ประชาคมโลก

รวมทั้งเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างนักวิชาการ ผู้แทนรัฐบาล องค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ณ Thailand Pavilion ขนาดพื้นที่ 147 ตารางเมตร

โดยมีหัวการจัดแสดงนิทรรศการที่สำคัญ อาทิ แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย พ.ศ. 2564 – 2573 (NDC Roadmap) แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เครื่องมือกลไกภายใน และระหว่างประเทศ Thailand Innovation Zone รวมถึงกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ภายใต้แนวคิด 'Climate Partnership Determination' ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน รวมถึงเยาวชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 20 หน่วยงาน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์