ประเทศไทยต้องไปต่อ COP28 Net Zero รัฐบาลใหม่ยังจริงจังอยู่ไหม?

ประเทศไทยต้องไปต่อ COP28  Net Zero รัฐบาลใหม่ยังจริงจังอยู่ไหม?

ยุค “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) ไม่ใช่คำบ่นว่าอากาศร้อนแบบที่ร้อนกันอยู่ทุกวันนี้ แต่เป็นยุคของสภาพภูมิอากาศของโลกหลังจากความเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change

 ที่รุนแรงขึ้นนำไปสู่การเริ่มต้นการสิ้นสุดยุคของ “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming)ที่ส่งผลกระทบแบบถ้วนหน้าและเท่าเทียม 

 

“คนในชนบทที่ทำการเกษตรจะเผชิญความแห้งแล้งรุนแรง และยาวนาน อย่างปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่คาดว่าจะกินเวลาถึง 2 ปี ส่วนคนในเมืองต่อให้ร้อนก็มีแอร์ที่เย็นกาย แต่ในใจนี่ไม่แน่ว่าจะเย็นได้หรือไม่ เพราะเมื่อภาคเกษตรผลิตอาหารได้น้อยลง ราคา และปริมาณอาหารก็จะแพง และหายากขึ้น เดือดร้อนกระเป๋าเงินที่มีแต่จะผอมแห้งลงไปอีก”

ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้กลัว แต่มีไว้ให้แก้  เมื่อเร็วๆ นี้ (ส.ค.2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นผู้แทน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UNFCCC COP 28) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประชุมระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์        

นับงานชิ้นท้ายๆ ของรัฐบาลชุดเก่าที่ได้ทำไว้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าทำหน้าที่แล้ว และมีงานสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมรออยู่

ดังนั้น การประชุม COP28 ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต่อเนื่องมาจาก COP26 ที่ผู้นำประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่เป้าหมายจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) และลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 40% ภายในปี ค.ศ.2030

สำหรับ COP 28 นี้ มีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ในมุมมองของประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ การสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการเร่งระดมเงินสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นต้น 

ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ตั้ง "กรมโลกร้อนแล้ว" หรือ "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" การเตรียมออก(ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ...... ได้ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเก่าแล้ว และกระทรวงการคลังกำลังศึกษา การเก็บภาษีคาร์บอน ไม่นับรวมโมเดลเศรษฐกิจ BCG [ (Bio ,Circular ,Green Economy)

การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน ใน ครม.ชุดใหม่ได้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้เป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ผลกระทบจากโลกเดือดไม่เคยหยุดสร้างความเดือดร้อนให้ใคร 

ก็คงได้แต่หวัง และตั้งคำถามว่างานด้านต่างๆ จะได้รับการสานต่อหรือริเริ่มเรื่องใหม่ที่จะทำให้ไทยร่วมประชุม COP28 ได้อย่างไม่อายใคร ซึ่งนั่นจะเป็นประโยชน์ย้อนกลับมาให้ประชาชนคนไทยทุกคน

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์