'ท่องเที่ยวยั่งยืน' คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

'ท่องเที่ยวยั่งยืน' คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ภาครัฐ เอกชน ร่วมชูประเด็น 'การท่องเที่ยว' คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล มุ่งเป้าดึงกลุ่ม 'นักท่องเที่ยว' คุณภาพสูง เน้นท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมเร่งผลักดันตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในตลาดยุโรปที่มีการใช้จ่ายสูง

 

ประเทศไทยมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งดึงดูดชาวต่างชาติ การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวแม้จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ข้อมูลจาก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) อธิบายว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อปกป้อง สงวนรักษาและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้ง นักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

 

ในปัจจุบันมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลายแบบที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community based tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์(Ecotourism) หรือแม้แต่นโยบายรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมหรือกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

 

\'ท่องเที่ยวยั่งยืน\' คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผนึกกำลังร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว คณะนักวิจัย และพันธมิตรทางการท่องเที่ยวของไทย ร่วมงาน WTM 2023 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ชูประเด็นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล

 

มุ่งเป้าดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงเน้นท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมเร่งผลักดันตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในตลาดยุโรปที่มีการใช้จ่ายทางการท่องเที่ยวสูง และมีระยะเวลาพำนักนาน ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและรักษ์สิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาล

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า บพข. มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ โดยแผน ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะ 5 ปี (ช่วงปี 2566-2570) กำหนดเป้าหมายในการดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศไทยในระยะเวลา 10 วันขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป และที่สำคัญ คือ จะต้องเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น

 

\'ท่องเที่ยวยั่งยืน\' คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

 

 

ตัวชี้วัดนี้จะไม่รวมกรณีไทยเที่ยวไทย ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 1,000 คนจากหลากหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป การทำงานร่วมกับภาคเอกชนจะสามารถช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง อาทิ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ( TEATA) สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) เป็นต้น

 

ขณะนี้ บพข.ได้จัดทำ แอปพลิเคชัน 'ZERO CARBON' เพื่อใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรม/โปรแกรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจะมีการแถลงผลงานความสำเร็จในวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

 

เชื่อมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์

สำหรับ การออกแบบแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 การเที่ยวเชิงธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พยายามที่จะทำในเรื่องของคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ขณะนี้ อยู่ในขั้นของการวัด การลด และชดเชยอยู่ คาดว่าราวปี 2568-2569 TEATA ร่วมกับคณะนักวิจัย จะสามารถออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยว Net Zero Emmission Route โดยมีเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมหนุนเสริม

กลุ่มที่ 2 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  เรื่องของ SPA และ SPORT เช่น มวย ปั่น วิ่ง กอล์ฟ ซึ่งในปีนี้มีการพัฒนา มวยไทย ซึ่งจัดเป็น Soft Power ชั้นนำของไทย ไปสู่มวยในเมตาเวิร์สได้สำเร็จแล้ว

กลุ่มที่ 3 การวิจัยเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่บางประเด็นอาจเป็นข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวของประเทศ จึงจำเป็นต้องศึกษาหาทางออก ในรูปแบบข้อเสนอเชิงนโยบายเร่งด่วน อาทิ ผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งด้านเศรษฐกิจโดยรวม ผู้ประกอบการ รวมทั้งแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (ผู้สูงวัย ผู้พิการ ผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ผู้ที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพผสมผสานการท่องเที่ยว เป็นต้น) 

กลุ่มที่ 4 กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งตรงกับ Soft Power พร้อมแนวคิดในเรื่องของความยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาล

 

'น่าน' พื้นที่นำร่อง 'วัด ลด ชดเชย บอกต่อ'

วสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) เผยว่า สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย เป็นสมาคมที่เกิดขึ้นมาประมาณ 25 ปี เป็นบริษัทนำเที่ยว โรงแรมหรือ Outdoor Activity ในการนำภาคเอกชนการท่องเที่ยวมารวมตัวกันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย ทำเรื่องของความยั่งยืน โดยได้รับการหนุนเสริมทางวิชาการ ผ่านกระบวนการวิจัยจาก หน่วยทุน บพข. กองทุน ววน. มุ่งในเรื่องของการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

"จากเดิมที่ประเทศไทยไม่เคยมีใครทำเรื่องนี้มาก่อน มีการเข้าไปหาองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการชดเชยคาร์บอนในทางท่องเที่ยว ทำให้ได้แนวคิดขึ้นมาที่จะทำการวิจัยเมื่อปี 2564 ที่จังหวัดน่าน นับเป็นจุดเริ่มต้น เป็นจุดกำเนิด ทำให้เราได้กระบวนการ “วัด ลด ชดเชย และบอกต่อ”

 

การวัด ในที่นี้หมายถึง การประเมินการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนปี 2565 ได้นำกระบวนการที่ได้มาออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยว และได้มีการทดสอบการท่องเที่ยวมาทดสอบความเชื่อมั่นว่าน่าเชื่อถือไหม ได้ผลจริงหรือไม่ ภายใต้งานวิจัยเราต้องทำให้ถูกต้องเพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงได้รับความร่วมมือจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นพี่เลี้ยงให้ นำศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ และทำให้เส้นทางต้นแบบกว่า 50 เส้นทาง มาพัฒนาและยกระดับให้สูงขึ้น

 

และในปีนี้ 2566 ได้มีการทำงานร่วมกับ Tourlink หน่วยงานจากยุโรปที่ทำเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมี Camacal เป็นเครื่องมือวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของกิจกรรมการท่องเที่ยวระดับสากล ผ่านการวิเคราะห์รูปแบบการเดินทาง ที่พัก และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทำเรื่องของ PCRs (Product Category Rules) คือ การจัดทําข้อกําหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละ ผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น

 

\'ท่องเที่ยวยั่งยืน\' คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

 

ต่อยอดงานวิจัย สู่เชิงพาณิชย์

นิธิ สืบพงษ์สังข์ ซีอีโอ นัตตี้แอดเวนเจอร์ อยุธยาโบท จากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคพื้นยุโรปมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอย่างเป็นระบบ โดยผ่านงานวิจัยที่มีการทำงานร่วมกันทั้งทางภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการที่หนุนเสริมกันอย่างต่อเนื่อง

 

"การทำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งโมเดลการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ของ บพข.นี้ สร้างประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นการร่วมมือทำงานที่ลงลึกทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพ ทำให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้นคล่องตัวขึ้นและครบมิติมากขึ้น"

 

ด้าน ดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนากองทุนและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สกสว. กล่าวเสริมว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งบริหารจัดการกองทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

"พร้อมให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น เพื่อประเทศไทยที่แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อน"