รู้จัก"ชุดไทยเรือนต้น"จากเส้นใยความยั่งยืนสู่เครื่องแบบหลัก"การบินไทย"

รู้จัก"ชุดไทยเรือนต้น"จากเส้นใยความยั่งยืนสู่เครื่องแบบหลัก"การบินไทย"

"การบินไทย"สายการบินแห่งชาติ กำลังขับเคลื่อนธุรกิจโดยนำหลักการความยั่งยืนมาปรับใช้ ซึ่งหนึ่งในการลงมือทำคือการเปลี่ยนที่"เครื่องแบบพนักงาน"

“ชุดสตรีไทยพระราชนิยม” ตามข้อมูลจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าคือ ชุดแต่งกายประจำชาติ ของ สตรีไทย สวมใส่ ใน งานพิธี หรือ งานพระราชพิธีต่างๆ เช่น งาน พิธีหมั้น งานพิธี มงคลสมรส เป็นชุด ที่มี เอกลักษณ์ เฉพาะ มีหลายรูปแบบ ตัดเย็บ ด้วย ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าใยประดิษฐ์ อาจเป็น ผ้าพื้น ผ้าลายดอก ผ้าลายริ้ว ผ้ายกดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือ ผ้ายกดอก เต็มตัว ใช้วัสดุเกาะเกี่ยว ที่เหมาะสม เช่น ซิป ตะขอ กระดุม ที่ห่อหุ้มจากผ้า ตัวเสื้อ อาจตกแต่ง ให้สวยงาม ด้วย การปักมุก เลื่อม ลูกปัด เป็นต้น
     ชุดไทยได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องแบบพนักงานต้อนรับหญิงของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั่นคือ ชุดไทยเรือนต้น ซึ่งเป็นชุดไทยแบบลำลอง ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมีลายริ้วตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิงตัวซิ่นยาวจรดข้อเท้าป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วหรือเชิงสีจะตัดกับซิ่นหรือเป็นสีเดียวกัน ก็ได้เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามสวนกว้างพอสบาย ผ่าอก ดุมห้าเม็ด คอกลมตื้น ๆ ไม่มีขอบตั้ง เหมาะสำหรับใช้แต่งไปในงานที่ไม่เป็นพิธีและต้องการความสบายเช่น ไปงานกฐินต้นหรือ เที่ยวเรือ เที่ยวน้ำตก

 

“การแต่งเครื่องแบบชุดไทยเดิมกำหนดให้ต้องบิน ต่างประเทศ ระยะเวลา 2.5 ชั่วโมงขึ้นไปแต่แนวทางใหม่นี้จะให้ใส่เป็นเครื่องแบบหลักของแอร์หรือพนักงานตอนรับหญิง” แหล่งข่าวจากการบินไทยระบุ 
สำหรับชุดไทยเรือนต้น ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ 
แต่ปัจจจุบัน เมื่อตามแผน  "FROM PURPLE TO PURPOSE" ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)  โดยการตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล        
ทั้งนี้ เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นดังกล่าวจะปรากฏในทุกที่สาธารณะทั่วโลกและทุกชั้นบริการบนเครื่องบิน ในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ซึ่งจะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
 

ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)
สำหรับเครื่องแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ การบินไทยจะทยอยปรับเปลี่ยนให้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนเครื่องแบบใหม่แล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 ทำให้ลูกเรือหญิงของการบินไทยที่มีจำนวนรวมประมาณ 2,100 คน จะถูกปรับเปลี่ยนมาใส่เครื่องแบบที่ผลิตจากเส้นใยไหมผสมเส้นใยขวดพลาสติกทั้งหมด
“เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบหญิงครั้งนี้ จุดประสงค์หลัก คือการเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย และรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเราจะพัฒนาชุดเครื่องแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังมีนโยบายให้พนักงานต้อนรับต้องแต่งชุดไทยมาปฏิบัติภารกิจ จากเดิมที่ต้องสวมยูนิฟอร์มสีม่วงมาก่อน และเมื่ออยู่บนเครื่องจึงเปลี่ยนเป็นชุดไทย หลังจากนี้จะเหลือเพียงยูนิฟอร์มเดียว ซึ่งทำให้พนักงานสะดวกมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี การบินไทยยังคาดหวังว่าการปรับเปลี่ยนเครื่องแบบจากวัสดุรีไซเคิล และมีนโยบายให้พนักงานใส่เครื่องแบบชุดไทยเพียงอย่างเดียวนั้น จะเป็นอีกหนึ่งส่วนช่วยในการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีเส้นทางบินเฉลี่ย 120 เที่ยวบินต่อวัน และมีพนักงานหญิงบนเครื่องบินให้บริการครอบคลุมเส้นทางทั่วโลกเฉลี่ย 600 – 700 คนต่อวัน ดังนั้นหากพนักงานสวมชุดไทยไปให้บริการทุกที่จะทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
สำหรับเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นที่การบินไทยพัฒนาขึ้นนั้น ผ้าไหมทอผลิตมาจากวัสดุเป็นส่วนผสมระหว่างเส้นใยไหม 30% และเส้นใยจากขวดน้ำพลาสติก 70% ซึ่งแตกต่างจากเครื่องแบบชุดไทยเดิมที่เป็นการตัดเย็บจากผ้าไหม 100% โดยผ้าไหมทอ 1 หลา ใช้ขวดน้ำพลาสติกประมาณ 18 ขวด และเครื่องแบบชุดไทย 1 ชุด ใช้ขวดน้ำประมาณ 54 ขวดในกระบวนการผลิต ดังนั้นนับได้ว่าเครื่องแบบชุดไทยที่การบินพัฒนาขึ้นนี้ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยกำจัดขยะเหลือใช้จากการบินในทุกเที่ยวบิน

ความพยายาม เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแต่ยังไม่เห็นที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร การปรับตัวของการบินไทยครั้งนี้ถือว่าได้นำเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมาประสานกับกับปฎิบัติงานจริง แต่ยังติดอยู่ที่ว่า"ใส่ชุดไทย"เดินในสนามบินนี่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป