กฎ “ลดคาร์บอน” ซัดขนส่งทางทะเล “เวิล์ดแบงก์” ชี้เพิ่มเทคโนโลยีเดินเรือ

กฎ “ลดคาร์บอน” ซัดขนส่งทางทะเล “เวิล์ดแบงก์” ชี้เพิ่มเทคโนโลยีเดินเรือ

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การรับมือ และแก้ไขปัญหาควบคู่กันไปเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

รายงานอัปเดต เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตุลาคม 2566 ของ ธนาคารโลก (EAST ASIA AND THE PACIFIC ECONOMIC UPDATE) สาระส่วนหนึ่งได้ระบุถึง แผนเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจบริการขนส่งทางทะเล ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของการค้าโลกที่มีสัดส่วนของการค้าโลกถึง 80% ใช้บริการขนส่งทางทะเลนี้ 

มีตัวเลขที่ชี้ถึงความสำคัญของการขนส่งทางทะเลกับภูมิภาคเอเชีย ว่า ปี 2564 ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนในกิจกรรมบริการขนส่งสินค้าทางทะเล แบ่งเป็นการส่งออก 55% และการนำเข้า 61% ของมูลค่ารวมของโลก ซึ่งการขนส่งทางทะเลมีส่วนให้ประเทศเอเชียมีบทบาทมากกว่าครึ่งในการส่งออกตรง และเป็นท่าส่งต่อสินค้าทางทะเล ดังนั้นเพื่อให้การเติบโตในธุรกิจนี้ดำเนินต่อไปได้ การปรับตัวให้เข้ากับ กฎลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งจำเป็น เพราะ 3% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกมาจากธุรกิจขนส่งทางทะเล (ข้อมูล ปี 2561)

ดังนั้น เมื่อเดือนก.ค.2566 ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิก175 แห่งขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization:IMO) จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ต่อ The 2023 IMO GHG Strategy (IMO 2023) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจบริการขนส่งทางทะเลให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ net-zero GHG emissions

"กำหนดเป้าหมายเป็นขั้นบันได ว่าปี 2573 จะลดคาร์บอนลง 20-30%  ปี 2583 ลดคาร์บอนลง 70-80% และปี 2593 สู่เป้าหมาย  net-zero GHG นำไปสู่การพัฒนาพลังงาน เชื้อเพลิง และเทคโนโลยี โดยมองว่า 5-10% ของพลังานที่ใช้ในการเดินเรือจะต้องเปลี่ยนไปในปี 2573 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในธุรกิจนี้มีการเผาไหม้กว่า 300 ล้านตันต่อปี" รายงานระบุ

เบื้องต้นเชื้อเพลิงที่น่าจะได้รับการพัฒนาและมีความเป็นไปได้ คือ “ไฮโดรเจน” ที่จะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานทดแทน เช่น 

กรีนแอมโมเนีย หรือกรีนเมทานอล  การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายใหม่ที่ต้องการเรียกร้อง และปรับปรุงประสิทธิภาพของพลังงาน และการเดินเรืออย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น การเร่งการลดการปล่อยก๊าซให้เร็วขึ้น หรือมาตรการทางเทคนิค เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในเรือ ปรับตัวลำเรือ และใบพัดเรือ เป็นต้น

“การปรับนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนำไปสู่การพัฒนาตะกร้าของนโยบายอีกหลายเรื่องทั้งด้านเทคนิค และทางเศรษฐกิจ สำหรับด้านเทคนิคจะต้องกำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซในการเดินเรือ ขณะที่องค์ประกอบทางเศรษฐกิจ ว่าด้วย ราคาการซื้อขายคาร์บอนจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ”

ทั้งนี้ ผลประมาณการว่าราคาคาร์บอนที่นำมาซึ่งรายได้ในธุรกิจเดินเรือที่จะเพิ่มไปถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2593 ขึ้นกับความสมมติฐานของราคาคาร์บอน และสัดส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเมินว่าจะมีรายได้ถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ถึง   6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2568 จนถึง 2573  

“ส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากราคาคาร์บอนจะกระทบต่อประเทศในเอเชียที่มีบทบาททางการค้า และการขนส่งทางทะเลที่จะนำไปสู่อัตราค่าระวางเรือ และกระทบต่อจีดีพีหรือการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ” รายงานระบุ 

กฎ “ลดคาร์บอน” ซัดขนส่งทางทะเล “เวิล์ดแบงก์” ชี้เพิ่มเทคโนโลยีเดินเรือ

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  กล่าวว่า ธุรกิจเดินเรือและการส่งออกของประเทศไทย ใช้การเดินทางทางเรือมากกว่า 90%แต่ประเทศไทย ไม่มีกองเรือขนส่งของไทยเลย  แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีการเดินเรือมากขึ้น และมีจำนวนเรือใหม่ที่มีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง ที่นำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ทำให้การขนส่งเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมมากขึ้นจะมีผลต่อค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่มากซึ่งผู้ประกอบการเดินเรือนั้นจะต้องปรับปรุงระบบเรือให้ประหยัดน้ำมันเพื่อให้เป็นเรือที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทำให้ระยะเวลาในการเดินเรือนานขึ้นเพราะต้องจำกัดความเร็วเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเพราะเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่มีพลังงานทดแทนที่จะมาใช้นอกจากเชื้อเพลิงน้ำมันที่ใช้ในการขับเคลื่อนเท่านั้น

การปล่อยคาร์บอน จะเป็นข้อมูลที่สำคัญที่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบรวมถึงคาร์บอนจากการขนส่งด้วยหากการขนส่งทางทะเลสามารถลดคาร์บอนได้นั่นหมายถึงการสื่อสารกับผู้บริโภคจะประสบความสำเร็จ และความพยายามรักษ์โลกร่วมกันก็จะสำเร็จด้วยเช่นกัน 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์