LifeWear เรียบง่าย ใช้ได้นาน เมื่อ "Fast Fashion" ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

LifeWear เรียบง่าย ใช้ได้นาน เมื่อ "Fast Fashion" ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ในยุคที่ Fast Fashion เริ่มสร้างขยะให้กับโลก กลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ "อุตสาหกรรมแฟชั่น" ที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต พลังงานที่ใช้ และเสื้อผ้าที่ผลิตต้องใช้ได้นาน และคุ้มค่า รวมถึงความยั่งยืนในด้านอื่นๆ ตลอดซัพพลายเชน

ข้อมูลจาก กรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ ปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สูงราว 1.2 พันล้านตันในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ของเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน

 

นอกเหนือจากผลกระทบการผลิตสิ่งทอแล้ว ยังมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ คือ การซักเสื้อผ้าและวิธีการทิ้งเสื้อผ้า ซึ่งก็คือมีการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.3 พันล้านตันในทุกๆ ปี หรือเท่ากับร้อยละ 8 ของการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ทั่วโลก

 

ขณะเดียวกัน สหราชอาณาจักร เป็นศูนย์กลาง Fast Fashion ในยุโรป ทุกๆ ปี ประชากรแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าประมาณ 26.7 กิโลกรัม สัดส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ในเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2543 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี 2562

 

เส้นใยเหล่านี้ผลิตจากน้ำมัน เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 5.5 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.1 กิโลกรัม

 

หากความต้องการยังคงเติบโตต่อเนื่องปริมาณการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยรวมของเสื้อผ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,978 ล้านตันภายในปี 2593 นั่นหมายความว่าภายในปี 2593 อุตสาหกรรมนี้จะต้องใช้งบประมาณในการจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งถึง 2 องศาเซลเซียส ถึงร้อยละ 26 จากทั้งหมด

 

อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ 

 

"บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด" บริษัทโฮลดิ้งด้านการค้าปลีกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 1 ใน 8 แบรนด์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ UNIQLO (ยูนิโคล่) และแบรนด์อื่นๆ ได้แก่ GU , Theory , PLST (Plus T) , Comptoir des Cotonniers , Princesse tam.tam , J Brand และ Helmut Lang  ที่ผ่านมา มีการเดินหน้าพัฒนา Life Wear ไปสู่อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ที่ต้องการผลิตเสื้อผ้าด้วยความเรียบง่าย คุณภาพดี และใช้งานได้นาน

 

LifeWear เรียบง่าย ใช้ได้นาน เมื่อ \"Fast Fashion\" ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 "ฟาสต์ รีเทลลิ่ง" แถลงข่าว LifeWear = Sustainability ครั้งที่ 2 บอกเล่าถึง ความคืบหน้าของแผนการดำเนินงานต่อเป้าหมายของ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ในปี 2573

 

"โคจิ ยาไน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เราก้าวไปข้างหน้าด้านความคิดริเริ่มต่างๆ ที่มีเป้าหมายในการให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์แวร์ (LifeWear) ได้มากขึ้น รวมถึงนำกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาชีวิตของผู้คนและสังคมทั่วโลก

 

"ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้เริ่มโปรเจกต์ใหม่ๆ เช่น การบริการซ่อมแซมเสื้อผ้าผ่าน RE.UNIQLO STUDIO พร้อมการร่วมมือกับลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ (NGOs) เดินหน้าความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อทำให้ไลฟ์แวร์ (LifeWear) เป็นหลักสำคัญเพื่อชีวิตและสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน"

 

เพิ่มวัสดุรีไซเคิล ในสินค้า 50% ปี 2573

 

  • สำหรับในส่วนของ "สินค้า" ในปี 2565 มีการเพิ่มอัตราส่วนของวัสดุรีไซเคิล วัสดุที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ที่ใช้ในกลุ่มบริษัทของฟาสต์ รีเทลลิ่งเพิ่มขึ้น 5% โดยในปี 2573 ตั้งเป้าให้มีสัดส่วน 50%
  • รวมถึงอัตราส่วนการใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ได้จากการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นประมาณ 16% เทียบกับการใช้โพลีเอสเตอร์ทั้งหมด
  • เสื้อฟลีซขนนุ่มของยูนิโคล่ ปี 2565 ได้ทำจากเส้นใย โพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 100% ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาจากขวดพลาสติก (PET)

 

LifeWear เรียบง่าย ใช้ได้นาน เมื่อ \"Fast Fashion\" ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

 

  • เดือนกันยายน ปี 2565 ที่ผ่านมา ยูนิโคล่เปิดตัว RE.UNIQLO STUDIO เป็นบริการใหม่จากยูนิโคล่ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้สวมใส่ไอเทมไลฟ์แวร์ (LifeWear) ตัวโปรดได้ยาวนานขึ้น โดยริเริ่มที่สาขา รีเจนท์ สตรีท ในลอนดอนเป็นแห่งแรก
  • นอกจากนี้ยังได้ขยายบริการนี้ไปในหลายประเทศอีกด้วย รวมถึงการเปิดทดลองบริการนี้ที่ญี่ปุ่น ณ ร้านสาขาเซตะกายะ ชิโตเซได ในวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าขยายบริการนี้ต่อไปทั้งในประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

 

ใช้ "พลังงานหมุนเวียน" ในสาขา และ สำนักงาน 100%

 

  • ที่ร้านสาขาและสำนักงาน

เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทฯ ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2573 ร้านยูนิโคล่และสำนักงานในยุโรป อเมริกาเหนือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว 100%

 

  • ระบบซัพพลายเชน

โรงงานคู่ค้าหลักผู้ผลิตสินค้าของยูนิโคล่ และ GU มากกว่า 90% ได้ยกระดับมาตรการการประหยัดพลังงาน ลดการใช้ถ่านหิน และเลือกใช้พลังงานหมุนเวียน แผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กำลังดำเนินไปอย่างมั่นคง ผ่านการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวกับโรงงานคู่ค้า

 

ตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทาง

 

  • ระบบเพื่อยืนยันการวางแผนซัพพลายเชนและติดตามผลของแต่ละสินค้าดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว การใช้งานการจัดการข้อมูลจากแหล่งต้นทาง ด้วยความร่วมมือกับโรงงงานคู่ค้าเริ่มต้นในคอลเลคชัน ฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ปี 2565
  • โปรแกรมการยืนยันแหล่งที่มาจากบุคคลที่สามเสร็จสมบูรณ์ และใช้งานจริงในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ตั้งเป้าที่จะใช้ Code of Conduct สำหรับพันธมิตรด้านการผลิตเส้นใยฝ้าย และสิ่งแวดล้อมของแรงงาน และการตรวจสอบทางบัญชี ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2566
  • ความคิดริเริ่มดังกล่าวนี้ เริ่มจากสินค้าบางอย่างของยูนิโคล่ และวางแผนเพื่อเพิ่มให้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภทของยูนิโคล่ และสินค้าอื่นๆ ในเครือของฟาสต์ รีเทลลิ่งในอนาคต
  • ยกระดับความโปร่งใส่โดยการเพิ่มรายชื่อของพันธมิตรด้านการผลิตในขอบเขตที่กว้างขึ้น รวมถึงพิจารณาการเพิ่มรายชื่อเพื่อรวมแหล่งผู้ผลิตเส้นใยฝ้ายในอนาคตด้วย

 

ให้ความสำคัญ สิทธิมนุษยชน

 

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับวิธีการติดตามสภาพแวดล้อมของแรงงาน โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ฟาสต์ รีเทลลิ่งได้นำโปรแกรม SLCP (Social and Labor Convergence Program) มาใช้ ซึ่งเป็นการระบบประเมินด้านอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำหรับโรงงานผลิต เพื่อประเมินความเสี่ยงและประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของแรงงาน รวมถึงการพัฒนาปัญหาดังกล่าว โปรแกรมนี้จะเริ่มใช้ในทุกๆ โรงงานผลิตเสื้อผ้าและโรงงานทอผ้าหลักๆ ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2566

 

"อีกทั้ง ได้ใช้มาตรการ Zero- Tolerance ในการทำข้อตกลงใดๆ เพื่อพิจารณาถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพิ่มความแข็งแกร่งในการตรวจสอบความเสี่ยงของสภาพแวดล้อมของแรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ก่อนที่จะเกิดความเสี่ยงขึ้น"

 

เผยข้อมูลซัพพลายเชนสำหรับลูกค้า

 

  • ตั้งแต่ปี 2566 ยูนิโคล่จะเปิดเผยข้อมูลของซัพพลายเชนสำหรับแต่ละสินค้าในรูปแบบข้อความสั้นๆ บนออนไลน์สโตร์ และในระหว่างปี 2566 สินค้าแต่ละชิ้นจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ผลิต ส่วนประเทศต้นทางที่ผลิตเส้นใยจะถูกนำมาเผยแพร่ในลำดับต่อไป
  • และจะเปิดเผยข้อมูลอันจำเป็นสำหรับลูกค้า เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกสินค้าของยูนิโคล่ ภายในปี 2568
  • ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการสร้างระบบยืนยันขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าคำอธิบายเกี่ยวกับข้อมูลสินค้ามีความถูกต้องเพื่อป้องกันความสับสน

 

เพิ่มผู้บริหารหญิง 50% ภายในปี 2573

 

ขณะเดียวกัน ฟาสต์ รีเทลลิ่ง ยังทำการยกระดับความหลากหลายในการทำงาน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้บริหารหญิงให้ถึง 50% ภายในปีงบประมาณ 2573 โดยในปลายเดือนสิงหาคม ปี 2565 อัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 43.7% อีกทั้งยัง ตั้งเป้าหมายสำหรับการจ้างงานผู้พิการทั่วโลก 

 

 คืนสู่สังคม

 

ในปีงบประมาณ 2565 ฟาสต์ รีเทลลิ่ง สนับสนุนเงินจำนวน 8.8 พันล้านเยน ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ รวมถึงบริจาคเสื้อผ้าในจำนวน 6.98 ล้านชิ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยมีจำนวนผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมนี้มีถึง 7.49 ล้านคนทั่วโลก

 

นอกจากนี้ ยูนิโคล่ เปิดตัว PEACE FOR ALL โปรเจกต์เสื้อยืดการกุศลที่สื่อให้เห็นถึงความหวังของบริษัทในเรื่องของสันติภาพ ผลกำไรจากยอดขายของโปรเจกต์นี้ได้บริจาคและถูกจัดสรรไปยังองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), องค์การช่วยเหลือเด็กหรือ Save the Children และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล (Plan International) โดยช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2565 ยูนิโคล่บริจาคเงินจำนวนประมาณ 100.45 ล้านเยน ซึ่งกิจกรรมนี้ยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต

 

ขณะเดียวกัน ฟาสต์ รีเทลลิ่ง มีแผนเพิ่มกิจกรรมความช่วยเหลือสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น บริษัทกำลังเพิ่มการจ้างงานและการช่วยเหลือเพื่อตั้งรกรากสำหรับผู้ลี้ภัยจากยูเครน นอกจากนี้ ได้ริเริ่มโปรเจกต์เพื่อช่วยเหลือด้านอิสรภาพของผู้หญิงพลัดถิ่นชาวโรฮิงญาที่ต้องการลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ

 

อีกทั้ง มีแผนในการขยายโปรแกรมการพัฒนาสำหรับคนรุ่นต่อไป (next-generation development program) ด้วยความร่วมมือจากโกลบอลแบรนด์แอมบาสเดอร์ของยูนิโคล่ อย่าง โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์ เพื่อร่วมจัดคลาสเทนนิสสำหรับเยาวชน ขณะเดียวกัน มูลนิธิฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing Foundation) จัดโปรเจกต์ฟื้นฟูผืนป่าในฟิลิปปินส์ ด้วยแผนการปลูกต้นไม้ประมาณ 200,000 ต้น อีกด้วย