ESG กุญแจการลงทุนแห่งอนาคต สู่การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน

ESG กุญแจการลงทุนแห่งอนาคต   สู่การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน

“ความเปลี่ยนแปลง” คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจและการลงทุน ที่พบว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ได้นำปัจจัยใหม่เข้ามาสู่ภาคธุรกิจด้วยนั่นคือ ESG ที่ย่อมาจาก Environmental Social และ Governance

ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กล่าวในการบรรยายหัวข้อ"ทิศทางของการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน ( Environmental, social, and governance: ESG) และ การลงทุน"  จัดโดย ฟิทช์ เรทติ้งส์ ว่า ESG ถือเป็นหนึ่งในพลังทางโลกที่เปลี่ยนแปลงอนาคตของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนทางสังคม การลงทุนด้านเทคโนโลยีที่นำ “ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence)”  เข้ามาสู่ธุรกิจซึ่งเทคโนโลยีนี้อาจเปลี่ยนสังคมและการดำเนินธุรกิจไปจากเดิม นอกจากนี้ ยังมีผลไปถึงโครงสร้างทางธนาคาร โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้เดียวกัน ESG ก็ยังจะสร้าง“ตลาดใหม่” ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะส่งผลต่อคนทั่วโลกและทางหลากหลายทางชีวภาพด้วย 

ในส่วนของธีมการลงทุนจากนี้ จะเน้นการลดผลกระทบทางกายภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอุณหภูมิที่สูงขึ้น และเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยโดยใช้เทคโนโลยีพลังงานใหม่และเทคนิคการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสในการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซียลเซียส 

“เพื่อจำกัดความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น นำไปสู่การใช้เทคโนโลยีพลังงานเกิดใหม่ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ระบบการจัดเก็บพลังงานขั้นสูง และไฮโดรเจนสีเขียว”

ในส่วนภาคธุรกิจกำลังเผชิญเงื่อนไขสำคัญคือ ข้อปฎิบัติที่ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายสูงสุดคือ วิธี หรือ ข้อมูลที่จะวัดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา และการลดคาร์บอน ที่ยังไม่มีความชัดเจนทั้งที่หลายบริษัทต้องทำเรื่องเหล่านี้ ต้องดูแลสภาพอากาศซึ่งไม่เพียงบริษัทหนึ่งบริษัทใดเท่านั้นที่ต้องทำ แต่หลายถึงซัพพลายเออร์และคู่ธุรกิจของบริษัทนั้นๆจะต้องส่งข้อมูลและดำเนินการจัดทำเป็นรายงานในชุดเดียวกันด้วย 

“การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ สินค้าทุน ของเสียที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน ไปจนถึงสินค้าขั้นปลายน้ำ ที่นับเป็นข้อมูลจำเป็นที่ต้องนำมาประกอบเป็นรายงานด้าน ESG ที่ต้องเก็บรวมรวมเป็นข้อมูลทางธุรกิจที่จำเป็นในอนาคต”  ESG กุญแจการลงทุนแห่งอนาคต   สู่การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน

การเก็บรวบรวมข้อมูล ให้ถูกต้องครบถ้วนถือว่าเป็นสิ่งที่ยากแล้ว การนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ว่าด้วยการจัดการธุรกิจภายใต้แนวคิด ESG นั้นถือเป็นสิ่งที่ยากมากกว่า ซึ่งการจัดการข้อมูลที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับแนวความ ESG มีหลักการใหญ่ได้แก่ การชดเชยคาร์บอน (carbon offsetting) อนุญาตให้บริษัทต่างๆ ลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเพื่อชดเชยการปล่อยมลพิษของตนเอง การชดเชยมักถูกมองว่าเป็นก้าวแรกสําหรับหลายบริษัทในการย้ายไปสู่การลดคาร์บอน

ส่วนคาร์บอนอินเซ็ต (carbon insetting) คือ บริษัทต่างๆ ลงทุนในโครงการลดคาร์บอนภายในห่วงโซ่อุปทานของตนเอง มีการจัดลําดับความสําคัญด้วยการให้ บริษัทต่างๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างยั่งยืนและคุ้มค่า ในขณะที่ปรับปรุงชุมชนและระบบนิเวศของตนเอง เนื่องจากการตั้งค่าอาจต้องการแนวทางแบบองค์รวมมากขึ้นในการลดการปล่อยมลพิษด้วยวิธีที่จับต้องได้

จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจและการลงทุนแบบ ESG ซึ่งเป็นความจำเป็นสำหรับธุรกิจในอนาคตที่ธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน 

เจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นก็ไม่สามารถต้านทานต่อสภาวะของเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้ โดยสะท้อนจากยอดส่งออกสินค้าที่หดตัวลงตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค. 2565 และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโรคระบาด

ความเปลี่ยนแปลงมักนำสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีมาได้ทั้งสองอย่าง แต่หากธุรกิจไทยสามารถรับมือความท้าทายเศรษฐกิจปัจจุบันและปรับตัวเพื่อรับความท้าทายในอนาคตให้ได้ ความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงจะนำสิ่งที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่ธุรกิจและการลงทุนได้