พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม | ถนอมลาภ รัชวัตร์

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม | ถนอมลาภ รัชวัตร์

พลาสติกเป็นวัสดุที่มนุษย์คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นวัสดุขึ้นรูปง่าย มีความหนาแน่นน้อย แข็งแรง ทนทาน สามารถปรับแต่งสมบัติได้ตามความต้องการ และมีราคาไม่แพง จึงมีการนำมาใช้กันกว้างขวาง

แต่หากนำไปทิ้งหรือกำจัดไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อมตามมาในภายหลัง เพราะพลาสติกส่วนใหญ่ไม่ย่อยสลาย หรือย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยาก บางชนิดใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปี  

ด้วยเหตุนี้จึงมีการรณรงค์ให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกสลายตัวทางชีวภาพได้ (Biodegradable plastic products and packaging) มาทดแทนเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคก็มีความสับสนระหว่างชนิดของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ซึ่งมีทั้งพลาสติกชีวภาพที่ได้มาตรฐานและที่แอบอ้างว่าเป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ 

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม | ถนอมลาภ รัชวัตร์

ทำความรู้จักกับ ‘การย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ กันก่อน

การย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า biodegradation ซึ่งย่อมาจาก biotic degradation คำนี้มีคำจำกัดความในมาตรฐานต่างๆ ที่ใช้พื้นฐานแนวคิดเดียวกันคือ เป็นการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีต่อชิ้นวัสดุ เป็นผลให้วัสดุเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซมีเทนและน้ำ (ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ)

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ คือ พลาสติกที่ถูกออกแบบมาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ เป็นสาเหตุทำให้สมบัติต่างๆ ของพลาสติกลดลงภายในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งสามารถวัดได้โดยใช้วิธีทดสอบมาตรฐานที่เหมาะสมกับชนิดของพลาสติกและการใช้งาน     

ผลการทดสอบสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีดังกล่าวต้องเกิดจากการทำงานของจุลินทรีย์ในธรรมชาติเท่านั้น (ที่มา: มาตรฐาน ISO 472:1998)

สำหรับในประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัว ได้ทางชีวภาพ อ้างอิงมาตรฐานสากลของ ISO 17088 : 2008 (specification for compostable plastics) ซึ่งได้กำหนดนิยามของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น

“พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือ สารพิษหลงเหลือไว้” 

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม | ถนอมลาภ รัชวัตร์

ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าว จะถูกนำมาใช้เพื่อรับรองคุณสมบัติของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ เพื่อให้สามารถนำกลับคืนมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยผ่านการหมักทางชีวภาพ

เช่นเดียวกับการหมักปุ๋ย ในโรงหมักของอุตสาหกรรม หรือ ของเทศบาล ซึ่งต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำ ออกซิเจน และอัตราส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจน เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าพลาสติกที่เราใช้ย่อยสลายได้จริงไหม

‘พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ (biodegradable) กับ ‘พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ’ (compostable) มีข้ออธิบายดังนี้ว่า พลาสติกแบบ biodegradable คือ พลาสติกที่มีส่วนผสมที่ย่อยสลายได้ ซึ่งต้องได้รับการจัดการในสภาพแวดล้อมพิเศษ

ส่วนพลาสติกแบบ compostable คือ วัสดุทดแทนพลาสติกที่ทำมาจากพืช สามารถทิ้งรวมกับเศษอาหารและหมักเป็นปุ๋ยได้ แต่ควรได้รับการจัดการผ่านกระบวนการทำปุ๋ยหมักร่วมกับการจัดการเศษอาหารเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน เพื่อทำให้ย่อยสลายได้แบบปลอดภัยต่อโลกร้อยเปอร์เซ็นต์

การวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นดัชนีแสดงกิจกรรมจุลินทรีย์ในดิน โดยมาตรฐาน มอก.17088 และมาตรฐานพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic standards) ต่างๆ กำหนดให้คาร์บอนต้องเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นตามทฤษฎี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน การจัดการพลาสติกอย่างเหมาะสมจึงจะเป็นทางออก

ในการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะพลาสติกนั้น จึงมีการสร้างมาตรฐานในการผลิตเพื่อการจัดการที่ถูกทาง และมีฉลากบอกประเภทพลาสติกแก่ผู้บริโภคเพื่อทิ้งให้ถูกถัง เพื่อรับรองพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ

หากอยากมั่นใจว่าของที่เราใช้นั้นย่อยสลายได้จริง ให้มองหาสัญลักษณ์ ฉลากเขียว หรือ มาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง เช่น ISO 17088, มอก.17088, ASTM D6400, EN 13432 เป็นต้น

หากพลาสติกที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ในธรรมชาติแต่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ก็จะสร้างมลพิษไม่ต่างจากพลาสติกทั่วไป ซึ่งตัวอย่างจากหลายประเทศที่พยายามแก้วิกฤตขยะ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลักของเกมการจัดการขยะนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างระบบการจัดการขยะอย่างถูกวิธีในประเทศ มาตรฐานการผลิต และการให้ความรู้ความเข้าใจต่อผู้บริโภคให้ใช้อย่างพอดี

กล่าวได้ว่า “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวัสดุสําหรับการใช้งานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และกระบวนการกําจัด”  

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล
1) เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ
2) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา