“เอทานอล” กับบทบาทใหม่ ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

“เอทานอล” กับบทบาทใหม่ ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

ประเทศไทยมีพื้นที่เพื่อการเกษตรมากกว่า 60% ของการใช้สอยพื้นที่ทั้งหมด ขณะเดียวกันประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกจากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในประเทศ และส่งออก

ถ้าหากเปลี่ยนวัตถุดิบใช้ทำพลาสติกจากพลังงานฟอสซิลที่ย่อยสลายยากมาเป็น “เอทานอล” ที่ทำจากพืชที่ย่อยสลายง่าย 

ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า เอทานอลที่มาจากพืชทำจากอ้อย หรือมันสำปะหลัง ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุดิบชีวภาพ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก โดยการปลูกพืชเพื่อนำมาผลิตเอทานอล และนำไปใช้ในการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพเป็น

กระบวนการผลิตที่มี Carbon Footprint ต่ำ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี

สำหรับการใช้ประโยชน์จาก “เอทานอล” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามมาตรฐานอุตสาหกรรม  ได้แก่ 1. เอทานอลใช้ทางด้านเภสัชกรรม 2. เอทานอลใช้ทางด้านอุตสาหกรรมใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตสินค้า เช่น น้ำส้มสายชู ซอสปรุงรส เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง อย่างเช่น น้ำหอม สบู่ เป็นต้น 3. เอทานอลใช้ทางด้านเชื้อเพลิง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติ ส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และการผลิตสุรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG :  เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 

          สำหรับผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2608

" กระทรวงการคลังจึงกำหนดแนวทางการส่งเสริม การนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงลดการใช้ปิโตรเคมีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตเม็ดพลาสติก"     

จากแผนส่งเสริมเชิงนโยบายของภาครัฐเพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเอทานอลนับเป็นแนวทางที่ดีที่จะลดการสร้างขยะล้านปีจากพลาสติกทั่วไปแล้วยังสร้างแปลงเกษตรที่ช่วยดูดซับคาร์บอนได้อีกด้วยแต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 

“เอทานอล” กับบทบาทใหม่ ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ในการผลิต เอทานอลที่มาจากพืชในปัจจุบันยังมีต้นทุนที่สูงในการผลิต แต่จุดแข็งของเอทานอลชนิดนี้คือ ทำมาจากพลังงานหมุนเวียน สามารถปลูกใหม่ได้ และการปลูกพืชจะสามารถช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง แต่การผลิตเอทานอลต้องแบ่งสัดส่วนการกิน และการใช้เพราะปัจจัยหลักยังคงอยู่ที่การบริโภคอยู่ ดังนั้นเอทานอล จึงยังไม่สามารถทดแทนวัตถุดิบจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทั้งหมด

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยสำหรับการใช้ประโยชน์จากเอทานอล แต่ข้อจำกัดสามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดมาตรการเพื่อลดขีดจำกัดต่างๆ ลงได้ 

 เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ได้มีการกำหนดให้ผู้ใช้เอทานอลจะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรกสำหรับแนวทางในการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ คือ 1. จัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ซึ่งมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิค และการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด

กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิต

เอทานอลล่วงหน้าในแต่ละปี ในกรณีผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการจะกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าในอัตราพิเศษเพื่อนำมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ

3. ภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร และผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถจำหน่าย เอทานอลในราคาที่สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้อย่างยั่งยืน และ 4. กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร จะพิจารณาดำเนินการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ

พืชเศรษฐกิจ อย่างอ้อย และมันสำปะหลัง ได้สร้างเม็ดเงินเป็นรายได้ให้เกษตรกร และประเทศมาช้านาน การต่อยอดประโยชน์จากเอทานอล กำลังจะทำให้พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ ทำหน้าที่สร้างความมั่งคั่งในภาคอุตสาหกรรม และทำให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยประสบความสำเร็จด้วย 

 

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์