‘PRO-Thailand’ ผลักดัน ‘EPR’ เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน

‘PRO-Thailand’ ผลักดัน ‘EPR’ เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน

PRO-Thailand Network เดินหน้า ผลักดันกฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) ความรับผิดชอบผู้ประกอบการตั้งแต่ผลิต ส่งมอบสินค้า และดูแลหลังจากใช้งานเสร็จ เปลี่ยน 'บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว' สร้างมูลค่า ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

Key Point : 

  • ประเทศไทย มีปัญหาขยะพลาสติก ในท้องทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งพลาสติกบางชนิดมีศักยภาพในการนำมารีไซเคิลได้ 
  • ที่ผ่านมา มีการผลักดันกฎหมาย EPR  ซึ่งถือเป็นระบบใหม่ หลักการคือ ให้ผู้ผลิตมีส่วนในการรับผิดชอบตั้งแต่การผลิตจนถึงเก็บกลับเข้าสู่ระบบมารีไซเคิล 
  • อีกทั้ง มีการรวมตัวของภาคเอกชน 7 บริษัท ภายใต้ PRO-Thailand Network ในการเป็นตัวกลางสร้างระบบจัดการข้อมูล และอีโคซิสเต็มให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

 

 

'พลาสติก' มักมีอายุการใช้งานสั้น และส่วนใหญ่มักจบลงที่บ่อขยะ มีเพียงบางส่วนที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลใหม่ ที่ผ่านมา การบริหารจัดการยังอยู่ในกรอบของบริโภคทางตรง มีการนำเข้า ผลิตสินค้า บริโภค และกลายเป็นขยะ ส่วนผู้จัดการขยะเป็นหน้าที่ กทม. เทศบาล อบต. ท้องถิ่น และในบางพื้นที่ไม่มีคนจัดการต่อ

 

เป็นที่มาของการผลักดันกฎหมาย EPR (Extended Producer Responsibility) ซึ่งถือเป็นระบบใหม่ หลักการคือ ให้ผู้ผลิตมีส่วนในการรับผิดชอบจากการผลิต ส่งมอบสินค้า และดูแลหลังจากใช้งานเสร็จ เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะ เป็นบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่มีคนรับไปดูแลเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา เกิดการรวมตัวของภาคเอกชนภาคสมัครใจ ภายใต้ 'เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน' (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ PRO-Thailand Network ในการเป็นตัวกลางเพื่อสร้างระบบจัดการข้อมูล และอีโคซิสเต็มให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

 

‘PRO-Thailand’ ผลักดัน ‘EPR’ เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้ากลุ่มวิจัย ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ Circular Economy for Waste-free Thailand (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า เป้าหมายของ EPR คือ การทำให้มีการหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น โดยให้อุตสาหกรรม ดูแลต่อเมื่อมีการใช้เสร็จ ดังนั้น ในด้านกฎหมายจะไม่ใช้คำว่า 'ขยะ' แต่ใช้คำว่า 'บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว' เพื่อให้เห็นว่ามันถูกบริโภค และเกิดระบบการเก็บรวบรวม เพราะขยะส่วนใหญ่มีศักยภาพ ในการแปรรูปใช้ใหม่คือ การรีไซเคิล ดังนั้น อยากจะให้เกิดระบบที่ผู้ผลิตภาคเอกชน เข้ามาช่วยสนับสนุน เก็บรวบรวม และรีไซเคิลอย่างปลอดภัย

 

“ปัจจุบัน EPR มีมากกว่า 40 ปี และใช้ในกว่า 65 ประเทศทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ขณะที่ สิงคโปร์ ความน่าสนใจคือ ออกเป็นยุทธศาสตร์ นโยบาย และเมื่อเริ่มนิ่งจะออกกฎหมายตาม ถือว่าระบบค่อนข้างดี ขณะที่ประเทศไทย กฎหมาย EPR อยู่ระหว่างการยกร่าง และรับฟังความคิดเห็น 4 ภาค หลังจากนั้นจะนำร่าง ไปดำเนินการตามกฤษฎีกา และเข้า ครม. ต่อไป”

 

‘PRO-Thailand’ ผลักดัน ‘EPR’ เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน

 

PRO-Thailand Network

 

ทั้งนี้ การจะสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้อย่างมีศักยภาพ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีมากกว่าหมื่นรายในประเทศ ที่ต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เป็นที่มาของการจัดตั้ง PRO-Thailand Network ทำหน้าที่ช่วยผู้ผลิตรับผิดชอบ บริหารข้อมูล เก็บรวบรวม คัดแยก ส่งต่อ และสุดท้ายในเรื่องของการรีไซเคิล

 

 

วิภาวรรณ ทัศนปรีชาชัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในตัวแทน PRO-Thailand Network เผยว่า PRO เกิดจากการรวมตัวของภาคเอกชน ตั้งแต่ปี 2563 ทั้งหมด 7 บริษัทที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนระดับโลก เบื้องต้นเน้นใน 3 บรรจุภัณฑ์ที่สมาชิกใช้ และผู้บริโภคใช้ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ PET กล่องเครื่องดื่ม UBC และ ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน MLP

 

โดยทำงานผ่าน 3 Category คือ Category A กลยุทธ์ที่จะดึงบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยทำงานร่วมกันโรงงานรีไซเคิลที่เข้าร่วมโครงการ สร้างมูลค่าให้บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ดึงเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น , Category B การผลักความช่วยเหลือ เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยสำหรับโรงงานรีไซเคิล สื่อสารประชาสัมพันธ์ ทำงานร่วมกับสมาคมซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า เป็นต้น และ Category C เป็นการสื่อสารไปสู่ผู้บริโภค ให้เกิดความตระหนักรู้ และมีส่วนร่วมในการผลักดัน

 

“เป้าหมายขนาดเล็กคือ เพิ่มการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ขณะที่ เป้าหมายใหญ่คือ การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการของ EPR ทั้งนี้ ระยะเวลา 3 ปี เราอยากให้มีสมาชิกในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น การทำงานร่วมกับภาครัฐในการพัฒนากฎหมาย EPR ให้สามารถใช้ได้จริง ขณะที่ เป้าหมายระยะยาวคือ อยากให้โมเดลของ PRO-Thailand เป็นโมเดลที่ใช้งานจริงในระดับประเทศต่อไป”

 

‘PRO-Thailand’ ผลักดัน ‘EPR’ เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน

 

ความท้าทายของภาคเอกชน

 

ปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในตัวแทน PRO-Thailand Network กล่าวเพิ่มเติม ถึงความท้าทายของภาคเอกชนว่า เรามีวัตถุประสงค์หลักคล้ายกัน แต่หากลงในรายละเอียดอาจจะมีความแตกต่างกัน และระดับความพร้อมของบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภท ซึ่งบรรจุภัณฑ์ PET ค่อนข้างมีความสมบูรณ์ในความพร้อมของห่วงโซ่ ขณะที่ กล่องเครื่องดื่ม มีโรงงานรีไซเคิลแล้ว แต่การจัดเก็บ และเพิ่มมูลค่าปลายทางยังไม่สมบูรณ์ ส่วนถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน ไม่มีโรงงานรีไซเคิล

 

“หากไม่มีหน่วยงานกลางที่คอยดูว่าบริบทของประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปคนละทิศทาง ดังนั้น การทำงานร่วมกัน ทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจน การทำงานในกรอบ PRO-Thailand เรากำลังพัฒนาให้เกิดห่วงโซ่ การนำวัสดุกลับมารีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต พยายามสร้างห่วงโซ่ให้ยั่งยืน เชื่อว่าการทำงานร่วมกันของภาคเอกชน จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นไปได้อย่างยั่งยืนในประเทศไทย”

 

‘PRO-Thailand’ ผลักดัน ‘EPR’ เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์