ความรุนแรง 'เอลนีโญ' 66 น่ากลัวจริงหรือ ?.... ภัยแล้ง 15 เดือนที่ต้องรับมือ

ความรุนแรง 'เอลนีโญ' 66 น่ากลัวจริงหรือ ?....  ภัยแล้ง 15 เดือนที่ต้องรับมือ

ปรากฏการณ์ 'เอลนีโญ ( El Nino)' ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย. โดยเอลนีโญ หรือสภาพร้อนแล้งคือ 1 ใน 3 รูปแบบของสภาพอากาศโลกที่วนเวียนเป็นวัฏจักร ก่อให้เกิดสภาพอากาศเลวร้าย

Keypoint:

  • เอลนีโญ ภัยแล้งเริ่มต้นแล้วตั้งแต่เดือนมิ.ย.2566 ที่ผ่านมา และจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 15 เดือน 
  • ความรุนแรงของเอลนีโญ อยู่ในระดับStrong และ Very Strong เชื่อไทยไม่ขาดน้ำหากบริหารจัดการดี 
  • ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาดูแลน้ำบนฟ้า ส่วนกรมชลประทาน ดูแลน้ำหน้าดิน ฝากเกษตรกร ทุกภาคส่วนติดตามข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ

อุทกภัย ภัยแล้ง หรือการรบกวนสภาพอากาศในหลายภูมิภาคของโลก ล้วนเป็นผลกระทบที่เกิดจาก 'เอลนีโญ' โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ซึ่งมีเศรษฐกิจเน้นเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมบริการ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญอาจทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งฝนทิ้งช่วง และน้ำท่วม พร้อมขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จัดทำแผนจัดสรรน้ำและการเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้ให้ใช้ได้มากที่สุด

ความรุนแรง \'เอลนีโญ\' 66 น่ากลัวจริงหรือ ?....  ภัยแล้ง 15 เดือนที่ต้องรับมือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ อาจทำ ‘ศก.ไทย’ ร้อนระอุ

กรมชลฯ พร้อมรับมือเอลนีโญ วอนทุกฝ่ายช่วยกันประหยัดน้ำ

มาแล้ว! 'เอลนีโญ' กรมอุตุฯโลกเตือนโลกรับมือ'ร้อนจัด-สภาพอากาศสุดขั้ว'

'เอลนีโญ'ประเด็นร้อนเศรษฐกิจ 'กกร.' จี้รัฐ ผุดมาตรการรับมือแล้งลากยาว 3 ปี

 

คาดเอลนีโญเกิดมากสุด 15-19 เดือน

สภาพอากาศและแนวโน้มปริมาณฝนของประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญสลับไปมา มีผลต่อร่องฝนทำให้ฝนมากผิดปกติ หรือฝนน้อย เอลนีโญมี 3 สภาวะ คือ ร้อน เย็นและช่วงที่สภาวะเป็นกลาง แต่ละแบบส่งผลกระทบต่างกัน ซึ่งเอลนีโญในสภาวะร้อนจะเกิดขึ้นเป็นวงจรทุก 2-7 ปี โดยน้ำอุ่นจะเคลื่อนตัวขึ้นมายังผิวน้ำใกล้กับบริเวณชายฝั่งของอเมริกาใต้ ก่อนจะแผ่กระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทร ทำให้บรรยากาศของโลกอุ่นขึ้น

ดร.สมชาย ใบม่วง กรรมการสมาคมนักอุทกวิทยาไทย กล่าวว่าปี 2566 ปรากฏการณ์เอลนีโญ เริ่มเกิดมาตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา และเห็นชัดเจนในเดือนก.ค. ซึ่งตามคาดหมายของหน่วยงานศูนย์ภูมิอากาศสหรัฐอเมริกา เอลนีโญ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจึงถึงเดือนมี.ค.2567 โดยความรุนแรงจะอยู่ในระดับ Strong และ Very Strong จะรุนแรงและรุนแรงมากในเดือนก.ย.-พ.ย.2566 และจะลดลงในเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 ก่อนเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนมี.ค.2567

ความรุนแรง \'เอลนีโญ\' 66 น่ากลัวจริงหรือ ?....  ภัยแล้ง 15 เดือนที่ต้องรับมือ

"เอลนีโญ ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่เกิน 15 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่ทีมวิชาการ กรรมการสมาคมนักอุทกวิทยาไทย ได้วิเคราะห์จากข้อมูลเอลนีโญ 72 ปี ความยาวนานที่เคยเกิดขึ้นจะไม่เกิน 19 เดือน และเมื่อเปรียบเทียบปรากฏการณ์เอลนีโญ กับวิเคราะห์ปริมาณฝนทั้งระดับประเทศ และรายภาค พบว่า ปี 2565 ตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.2565 ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าปกติแต่น้อยกว่าเดิมไม่มาก และปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้น ในเดือนส.ค.-ต.ค. ซึ่งในช่วงนั้นบางปี อย่างปีที่ผ่านมาฝนมากกว่าค่าปกติ"

 

ภาคการเกษตรใช้น้ำมากสุด 40-60%

การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตของผู้คน 'ภาคเกษตร' เป็นภาคที่ใช้น้ำมากที่สุด โดยจะใช้ 40-60 % ของปริมาณน้ำที่มีในประเทศ ที่ผ่านมา หน่วยงานที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำได้มีมาตรการกำหนดพื้นที่ปลูกพืช ทำนา ทำไร่ และแนะนำการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือใช้วิธีการปลูกเปียกสลับแห้งส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม อุตสาหกรรมการบริการ หรืออุตสาหกรรมภาคขนส่ง ฯลฯ ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำ หรือการใช้น้ำอย่างประหยัดก็ยังเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องช่วยกัน

ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ น้ำบนฟ้า จะเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสร้างแบบจำลอง ที่ค่อนข้างแม่นยำ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เมื่อน้ำบนฟ้าตกลงมาบนดิน กลายเป็นน้ำหน้าดินทางกรมชลประทาน ซึ่งมีเทคโนโลยีทันสมัย แปลงน้ำบนฟ้ามาเป็นปริมาณน้ำบนดิน มีการใช้ระบบไอโอที มีเครื่องตรวจวัด จะแปลงเป็นน้ำท่าปริมาณเท่าใด และจะต้องปล่อยน้ำไปในพื้นที่เกษตรเท่าใด น้ำที่จะใช้ต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย มีระบบซอฟต์แวร์ เอไอในแต่ละเขื่อน มีระบบการผันน้ำไปยังเขื่อนที่มีน้ำน้อย เพื่อให้พื้นที่การเกษตรได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอ

"ตอนนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับเอลนีโญ จำนวนมาก และมาจากหลายช่องทาง อยากแนะนำประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของเกษตรกร ขอให้ติดตามข้อมูลและข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคปฏิบัติจริงๆ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีการวิเคราะห์ ไม่ใช่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ฉะนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าตื่นตระหนัก ขอให้ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่ปฎิบัติเท่านั้น” ดร.สมชาย กล่าว

ความรุนแรง \'เอลนีโญ\' 66 น่ากลัวจริงหรือ ?....  ภัยแล้ง 15 เดือนที่ต้องรับมือ

ดึงเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการน้ำ

จากสถิติปี 2493-2566 ในรอบ 74 ปี โลกเผชิญเอลนีโญทั้งหมด 26 ครั้ง เป็นแบบรุนแรง 5 ครั้ง รุนแรงมาก 3 ครั้ง เอลนีโญทั้งหมด 45 ปี ต่อเนื่อง 2 ปี ติดกัน 7 ครั้ง และจำนวนปีต่อเนื่องสูงสุด6 ปี ส่วนภาวะลาณีญา 25 ครั้ง แบบรุนแรง 7 ครั้ง ลานีญาทั้งหมด 38 ปี ต่อเนื่อง 2 ปี และ 3 ปีติดกันทั้งหมด 3 ครั้ง จำนวนปีต่อเนื่องสูงสุด 8 ปี ส่วนปีที่มีทั้งเอลนีโญและลานีญา ทั้งหมด 13 ปี

ผศ.ดร.เยาวทัศน์ บุญกล้า อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เอลนีโญที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนในภาคการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐคงต้องกำหนดนโยบายในการรับมือเรื่องนี้ เพราะหากภาคการเกษตรประสบปัญหาน้ำจะทำให้เกิดผลต่อผลผลิตทางการเกษตร และเศรษฐกิจของประเทศ

“การบริหารจัดการน้ำ ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวแก่เกษตรกรในการใช้น้ำ อย่างการทำนา ส่วนใหญ่จะสูบน้ำเข้านา ต้องหากระบวนการปลูกแบบใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำให้ใช้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมได้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น น้ำหยด และสร้างคลองใส้ไก่ ขนมครกไว้สำหรับกักเก็บน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี หรือศึกษาเทคนิคการปลูก พืชแบบใหม่ที่ช่วยให้ใช้น้ำน้อยลง”ผศ.ดร.เยาวทัศน์ กล่าว

ความรุนแรง \'เอลนีโญ\' 66 น่ากลัวจริงหรือ ?....  ภัยแล้ง 15 เดือนที่ต้องรับมือ

อย่างไรก็ตาม แผนในการรับมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐนั้น ช่วยได้เฉพาะเกษตรกรที่อยู่ใกล้แหล่งชลประทาน แต่กลุ่มนอกเขตชลประทานกลับไม่ได้น้ำ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวต้องร่วมกันวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ส่วนการนำเทคโนโลยีเปลี่ยนจากน้ำเค็มมาเป็นน้ำจืดอาจจะสามารถใช้ได้ แต่ต้องมีการศึกษารอบด้าน เพราะตอนนี้น้ำทะเลก็มีสารปนเปื้อนมากมาย ขณะที่ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานเอกชน ต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการต่อสู้ภัยพิบัติทุกรูปแบบ