ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ อาจทำ ‘ศก.ไทย’ ร้อนระอุ

ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ อาจทำ ‘ศก.ไทย’ ร้อนระอุ

ปริมาณน้ำฝนในฤดูมรสุมปีนี้พบว่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในระดับต่ำจากพิษ "เอลนีโญ" ไปอีกนาน ภาครัฐต้องเร่งวางแผนรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเด็นบริหารจัดการน้ำ แก้ภัยแล้ง อย่าให้กระทบเศรษฐกิจไทย

ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” เริ่มแสดงพลังให้เห็นแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2566 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ “ร้อนสุด” เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 17.18 °C (ข้อมูลจากสถาบัน Climate Change แห่งมหาวิทยาลัย Maine)

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกก็ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปเช่นเดียวกัน ซึ่งคลื่นความร้อนที่พุ่งทะยานนี้ กลายเป็นความเสี่ยงใหญ่สุดอันดับสองที่โลกต้องเผชิญในอีก 2 ปีข้างหน้า และยังเป็นความเสี่ยงใหญ่สุดอันดับ 3 ในช่วง 10 ปีข้างหน้าด้วย ตามรายงานการจัดอันดับโดย World Economic Forum Global Risks Report 2023

โดยคลื่นความร้อนเข้าโจมตีในหลายประเทศแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย ล้วนเผชิญกับอากาศที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายๆ พื้นที่ ขณะที่ยุโรป เช่น อังกฤษ โปแลนด์ สเปน ลัตเวีย โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ก็เผชิญคลื่นความร้อนหนักกว่าทุกครั้ง เช่นเดียวกับจีนและสหรัฐ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของสหรัฐในรัฐเท็กซัส ลุยเซียนา และฟลอริดา จนมีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

ปรากฏการณ์ “คลื่นความร้อน” ที่แผดเผาหลายพื้นที่ทั่วโลกในปัจจุบัน กำลังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลกใบนี้ด้วย โดยสินค้าเกษตรกระทบหนักสุด ราคาสินค้าหลายตัวถีบขึ้นจนน่ากังวล ใน “อินเดีย” พบว่า “มะเขือเทศ” พุ่งขึ้นกว่า 400% จนแพงกว่าราคาน้ำมันไปแล้ว ขณะที่ราคาโกโก้พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี ส่งผลกระทบต่อราคาช็อกโกแลตที่ถีบตัวขึ้นตามด้วย

และที่สำคัญ.. การขนส่งทางเรือในหลายๆ พื้นที่เริ่มถูกจับตามากขึ้น โดย “คลองปานามา” ต้องกำหนดความลึกของเรือในการแล่นผ่าน เพื่อป้องกันการเกยตื้นจากปัญหาภัยแล้งที่เป็นผลพวงของปรากฏการณ์เอลนีโญ

กลับมาที่ประเทศไทย หลายหน่วยงานเริ่มเตือนถึงสัญญาณภัยที่อาจกระทบต่อ “ภาคเกษตร” และ “อุตสาหกรรม” และส่งผลถึงความเป็นอยู่ของคนในประเทศ โดย “วิจัยกรุงศรี” คาดการณ์ว่า ไทยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะเอลนีโญในปีนี้ และจะหนักขึ้นในปี 2567-2568

โดยเผชิญกับคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และปริมาณน้ำในแหล่งธรรมชาติหรือในเขื่อนลดลง ซึ่งถ้าเป็นไปตามคาดก็แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริโภค กระทบระบบนิเวศ ภาคเกษตร รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วย 

ผลกระทบที่ว่านี้ เราเริ่มเห็นเค้าลางบ้างแล้ว ซึ่งถ้าดูปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วประเทศในฤดูมรสุมปีนี้ พบว่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในระดับต่ำจากพิษเอลนีโญไปอีกนาน ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งดูหนักหน่วงยิ่งขึ้นในปีหน้า

...เราเห็นว่าภาครัฐต้องเร่งวางแผนรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเด็นบริหารจัดการน้ำ ไม่เช่นนั้น ปัญหาจะกระทบชิ่งไปยัง “ภาคเศรษฐกิจ” ส่งผลต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งเวลานี้ค่าครองชีพของคนไทยก็สูงอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าปล่อยให้ประชาชนต้องเดือดร้อนไปมากกว่านี้เลย!