'เอลนีโญ'ประเด็นร้อนเศรษฐกิจ 'กกร.' จี้รัฐ ผุดมาตรการรับมือแล้งลากยาว 3 ปี

'เอลนีโญ'ประเด็นร้อนเศรษฐกิจ 'กกร.' จี้รัฐ ผุดมาตรการรับมือแล้งลากยาว 3 ปี

เศรษฐกิจและสภาพอากาศมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงปีนี้เป็นต้นไป เศรษฐกิจไทยแขวนอยู่บนฐานการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่จะรุนแรงแบบสุดขั้ว

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่าปัญหาภัยแล้งถือว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่มีประชาชนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก หากปีไหนมีปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะภาคบริโภค เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนลดลง

“ขณะนี้เพิ่งเข้าสู่ฤดูฝน และยังไม่มีปัญหาเรื่องฝนทิ้งช่วงหรือปัญหาภัยแล้งแต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยรัฐบาลมีกลไกในการเฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งอยู่แล้วทั้งหน่วยงานอย่างกรมชลประทาน และ สทนช.(สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)”

 

ส่วนหากมีข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อเข้ามาดูแลปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญโดยเฉพาะนั้นคาดว่าจะต้องมีการตั้งขึ้นในรัฐบาลหน้า เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ

นักวิชาการห่วงผลผลิตเกษตรเสียหาย

สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งมากขึ้นในระยะต่อไปผลผลิตทางการเกษตรจะได้รับความเสียหาย การเพาะปลูกต่างๆจะทำยากขึ้น ขณะนี้ในบางประเทศได้มีการวางแผนการปลูกพืชและส่งออกสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น

 

\'เอลนีโญ\'ประเด็นร้อนเศรษฐกิจ \'กกร.\' จี้รัฐ ผุดมาตรการรับมือแล้งลากยาว 3 ปี

กกร.ส่งหนังสือถึงนายกฯเร่งวางแผนแก้ภัยแล้ง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (EI Nino) ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไปในวงกว้างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า เรื่อง “ขอความอนุเคราะห์สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และการใช้น้ำ ของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง”

โดยมีสาระสำคัญ ว่าภาคเอกชนได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านน้ำที่มีผลต่อการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งตามการคาดการณ์ปรากฏการณ์ที่ใช้สำหรับอธิบายการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรและความผันแปรของระบบอากาศในชีกโลกใต้ รวมถึงปรากฏการณ์

เอลนีโญ (EI Nino) และลานีญา (La Nina) พบว่าประเทศไทยจะเข้าสู่รูปแบบ เอลนีโญ เริ่มตั้งแต่เตือนก.ค. 2566 ทำให้มีปริมาณฝนน้อยทิ้งช่วงยาวนาน มีโอกาสเกิดภัยแล้งต่อเนื่อง 3 ปี และจะมีความผันผวนของปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ในการนี้ กกร.ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และการใช้น้ำของผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรมชลประทาน และคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง

เสนอมาตรการระยะสั้นและระยะยาวแก้ปัญหาน้ำ EEC

โดยทาง กกร. มีข้อเสนอแนะต่อการจัดทำมาตรการฯ ทั้งในระยะเร่งด่วน และระยะยาว ดังนี้

 1.มาตรการระยะเร่งด่วน ได้แก่

1)ควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในอ่างฯ

2)เร่งผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เก็บในอ่างเก็บน้ำ เช่น ผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เข้ามากักเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระทันทีเมื่อพร้อม

3) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำตามโครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ให้มีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียน้ำ 4)เร่งรัดฟื้นฟูและบำรุงรักษาระบบสูบน้ำกลับที่มีอยู่ให้กลับมาใช้งานได้ เช่น ระบบสูบกลับแม่น้ำระยอง

2.มาตรการระยะยาว ได้แก่

1)เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญเพื่อกักเก็บน้ำสำรองให้กับพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ควรเร่งรัดกระบวนการขอใช้พื้นที่ป่าอุทยาน เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ตามแผนที่กำหนดไว้

2) ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำสำรอง ทั้งในพื้นที่EEC รวมทั้งแผนการนำน้ำรีไซเคิลจากน้ำเสียชุมชนมาใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง เช่น น้ำเสียที่ผ่านบำบัดจากเมืองพัทยามาใช้ในนิคมแหลมฉบัง เป็นต้น

\'เอลนีโญ\'ประเด็นร้อนเศรษฐกิจ \'กกร.\' จี้รัฐ ผุดมาตรการรับมือแล้งลากยาว 3 ปี

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่าในพื้นที่อีอีซียังคงจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เช่น โครงการลงทุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีซึ่งบางโครงการที่มีความพร้อมต้องเสนอให้กับรัฐบาลใหม่ช่วยผลักดันให้มีการลงทุน

“ในอนาคตการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะมากขึ้น มีจำนวนผู้เข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้นปัจจัยสำคัญคือเรื่องน้ำที่ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการผลิต ที่อยู่อาศัย และความเป็นเมือง”

ความท้าทายทางเศรษฐกิจมาจากหลายรูปแบบ หนึ่งในความท้าทายที่รับมือยากที่สุดคือ ปัญหาสภาพอากาศที่แม้จะคาดเดาได้แต่ก็ไม่อาจถูกต้องหมดทั้ง100%ได้การรู้และรับข้อมูลอย่างรอบด้านจะทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านความท้าทายด้านสภาพอากาศอย่างเอลนีโญนี้ไปได้