Pro รวมพลังเพื่อโลก | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

Pro รวมพลังเพื่อโลก | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ได้มีการเปิดตัว “PRO-Thailand Network ” ที่เกิดจากการรวมพลังของ 7 บริษัทระดับโลกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน

บริษัทพันธมิตรชั้นนำ 7 บริษัทในประเทศไทย ประกาศเปิดตัว “เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ “PRO-Thailand Network” ด้วยความสมัครใจ   ภายใต้หลักการ “ขยายความรับผิดชอบไปยังผู้ผลิต" ( Extended Producer Responsibility : EPR )  

โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย

สมาชิกของ “PRO-Thailand Network” ประกอบด้วย เจ้าของตราสินค้า ผู้ผลิตสินค้า รวมถึงผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 7 บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด  (2) บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด  (3) บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด  (4) บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  

(5) บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด  (6) บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด   และ (7) บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด

ที่ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนในระดับโลก รวมถึงตระหนักร่วมกันถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน ซึ่งหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี จะกลายเป็นปัญหาขยะในประเทศไทย

Pro รวมพลังเพื่อโลก | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

พันธมิตรทั้ง 7 บริษัท  ได้ตัดสินใจมารวมตัวกัน “โดยสมัครใจ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยยึด “หลักการ EPR” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน คือ

มุ่งเน้นการจัดการตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทางคือการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงปลายทาง คือการเก็บกลับ การรีไซเคิล หรือการแปรสภาพบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น  ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ในประเทศไทย

ในเบื้องต้นนั้น PRO-Thailand Network ได้เริ่มต้นทดลองโมเดลการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท โดยการทำงานร่วมกับ “มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน” (มูลนิธิ 3R) อย่างใกล้ชิด คือ

(1) ขวดพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate)  

(2) กล่องเครื่องดื่ม (อาทิ กล่องนม น้ำผลไม้ กล่องน้ำกะทิ)  และ

(3) ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (อาทิ ซองขนม กาแฟ) 

แนวทางการดำเนินงานของ PRO-Thailand Network ก็คือ ส่งเสริมการเก็บกลับและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของภาคประชาชน เพื่อนำกลับมารีไซเคิล หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

(1) การสร้างความร่วมมือ ด้วยการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว และการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในระบบการจัดการขยะ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพในการลดขยะบรรจุภัณฑ์และเพิ่มการรีไซเคิลสู่การนำกลับมาใช้ใหม่

(2) การอำนวยความสะดวก ด้วยการพัฒนาปรับปรุงระบบการรีไซเคิลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า องค์กร Non-Governmental Organization (NGO) องค์กรธุรกิจและการค้า สื่อมวลชน ประชาชน และหน่วยงานรัฐบาล

(3) การสร้างโมเดลต้นแบบ ด้วยโครงการนำร่องที่มีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเก็บกลับ การรีไซเคิล และ/หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก่อนจะขยายผลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพในระดับประเทศ

Pro รวมพลังเพื่อโลก | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ในวันเปิดตัว  อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี) ได้เน้นถึง  หน้าที่ความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษในเรื่องของการลดการเกิดขยะที่แหล่งกำเนิด การเพิ่มศักยภาพในการจัดการขยะตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี  

การทำงานของ PRO-Thailand Network จึงเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่จะมีส่วนสำคัญ ในการช่วยลดการเกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์กลับไปรีไซเคิลหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ  

แต่การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไม่สามารถลงมือ ทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยปราศจากแรงสนับสนุนด้านกฎหมายจากภาครัฐ  

ภายใต้ “หลักการ EPR” จะต้องกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยอย่างแท้จริง

“PRO-Thailand Network” ได้ดำเนินโครงการนำร่องนี้ ผ่าน “มูลนิธิ 3R”  เพื่อเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนา PRO Model ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ปัจจุบัน “มูลนิธิ 3R” มีภารกิจหลักในการผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวความคิดของ “หลักการ 3R” (Reduce - Reuse - Recycle) เพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของไทยและโลกของเรา 

ต่อแต่นี้ไป เราคงจะได้เห็น “บริบทใหม่ของความร่วมมือ” ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น   ครับผม !