'Climate Tech' เทคโนโลยีรับมือโลกเปลี่ยน

'Climate Tech' เทคโนโลยีรับมือโลกเปลี่ยน

ทุกคนต่างรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งในปีนี้ทุกคนสัมผัสได้ จากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นจากอากาศร้อน หรือฝนตกจนน้ำท่วมในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

Keypoint:

  • อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส ทุกภาคส่วนทั่วโลกต่างลงทุนด้านเทคโนโลยี Climate Tech เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนที่หากไม่ทำอะไรอาจร้อนสูงเฉลี่ย 4 องศาเซลเซียส
  • Climate Tech ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ควรเป็นเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ไบโอ และการใช้ต้นไม้ พื้นที่ดินเป็นแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน
  • ถ้านักศึกษา ผู้ประกอบการ คนไทยสามารถสร้างเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับโลกร้อน แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ จะเป็นการช่วยโลก และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ได้มีการปลุกจิตสำนึก มีการออกกฎเกณฑ์มาตรการต่างๆ ที่ทั่วโลกต้องขับเคลื่อนร่วมกับ การส่งเสริมให้ทุกคนร่วมกันตระหนัก และดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลโลกให้ดีขึ้น ทว่าอาจไม่เพียงพอ เพราะวันที่ทุกคนต้องทำเพื่อโลก ไม่ใช่เพียงวันสิ่งแวดล้อม แต่ต้องทำทุกวัน

เทคโนโลยี นวัตกรรม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งคู่กัน เพราะนอกจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อนแล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ย่อมทำให้เกิดการลดอุณหภูมิโลกที่เห็นผลมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เวิลด์แบงก์แนะไทยเร่งแผน ความยั่งยืนก่อนกระทบจีดีพี

รู้จักรถไฟฟ้าโมโนเรล ล้อยางบนรางเหล็กสู่ขนส่งที่ยั่งยืน

ซีพีเอฟ แชร์ “CPF Kitchen of the World” ขับเคลื่อนการผลิตอาหารยั่งยืน

 

 

"โลกรวน สภาพอากาศเปลี่ยน' ทุกข์ที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์  ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กล่าวถึง Climate Tech เทคโนโลยีรับมือโลกเปลี่ยน  ในงานสัมมนา ‘ innovation Keeping the world นวัตกรรมรักษ์โลก ไทยอยู่จุดไหน’ จัดโดยสปริงนิวส์ ร่วมกับฐานเศรษฐกิจ และเนชั่นทีวี 22 ว่า ภาวะโลกรวนที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปีนี้  อย่างอากาศร้อนมาก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลกต่างประสบปัญหาเหมือนกัน

วันนี้โลกรวนถือเป็นทุกข์ที่เกิดกับทุกคน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เพียงโลกร้อนในทุกมิติ ทั้งระบบของโลก ความเป็นอยู่ อาหาร สภาพอากาศ และเศรษฐกิจ ทั้งที่สิ่งที่กำลังเจออยู่เป็นเพียงปัญหาเริ่มต้น หากไม่ทำอะไรจะเจอปัญหาข้างหน้าอีกมาก

 “เรากลัวอุณหภูมิโลกเกิน 2 องศาเซลเซียส ทำให้ทั่วโลกต่างพยายามรักษาอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทุกวันนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 องศาเซลเซียส แต่ถึงจะห่างกัน 0.3 องศาเซลเซียส แต่ในสภาพอากาศความต่างของอุณหภูมิต่ำสุด และสูงสุดจะกว้างมากขึ้น ซึ่งถ้าเราคุมไม่ได้ ทุกอย่างจะทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น"นายเกียรติชาย กล่าว

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทางวิทยาศาสตร์มองว่าก๊าซเรือนกระจก เป็นตัวการสำคัญ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกเป็นกลุ่มก๊าซที่ปกคลุมโลก แต่การจะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะภาคพลังงาน ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญ เพราะพลังงานมีถ่านหิน ฟอสซิลมาใช้จำนวนมาก

รองลงมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อนำมาพัฒนาเมือง  และภาคกระบวนการผลิตทั้งหมด รวมไปถึงภาคการเกษตร ที่จะมีของเสียในรูปแบบของสารอินทรีย์ อย่างก๊าซมีเทน ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีกประเภท

 

Climate Tech ที่นำมาใช้รับมือโลกร้อน

ขณะเดียวกัน โลกของเรามีการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก เพื่อนำพื้นที่เหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นนาข้าว เลี้ยงสัตว์ ทั้งที่ต้นไม้สามารถในการดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้ แต่กลับไปทำนาข้าว เลี้ยงสัตว์ที่ซากพืชซากสัตว์ทำให้เกิดก๊าซมีเทนได้เช่นเดียวกัน  

นายเกียรติชาย กล่าวต่อว่าปัจจุบันมีการตั้งเป้าเรื่องของ  Net Zero หรือการเลิกจะปล่อย ควบคุมก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เพิ่มขึ้น โดยสามารถปล่อยได้เพียง 40-50 แสนตันเท่านั้น ทำให้ขณะนี้ทั่วโลกพยายามหาทางออกผ่านความร่วมมือ ออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุม แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือ การกระทำของทุกคน เกิด Climate Action ต้องทำให้ทุกคนสามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้ และต้องจัดการที่ต้นเหตุ ต้องเลิกการปล่อยซึ่งถือเป็นความคุ้มค่าอย่างมาก

"ทั่วโลกมีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากมาย อันนำไปสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ในปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 50,000 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าไม่ทำอะไรจะมีการปล่อยมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ เวลาที่เหลืออยู่นั้นน้อยมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะทำให้อุณหภูมิเกิน 4 องศาเซลเซียส เราต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ทำให้การปล่อยปกติลดลง และต้องปล่อยให้อยู่ในระดับ 20,000 ล้านตันต่อปี ให้ได้" ผอ.อบก. กล่าว

เทคโนโลยีลดการปล่อย และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน

การจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20,000 ล้านตันต่อปี ต้องยอมรับว่ามีส่วนหนึ่งก็ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากประเทศ โลกยังคงต้องมีการใช้ฟอสซิลในบางส่วน ดังนั้น นอกจากการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว จึงต้องเพิ่มการดูดกักเก็บคาร์บอนร่วมด้วย 

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชัน เกี่ยวกับเรื่องอาคาร การดูแลการบริหารจัดการ ระบบการลดความเย็น การใช้พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมใหม่ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพลังงาน

"เทคโนโลยีพลังงานทดแทน (Renewable Energy Technology) เป็นตัวเทคโนโลยีที่เราต้องมีและต้องทำ เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ในกลุ่มพลังงาน และเป็นความท้าทายในการทำนวัตกรรมใหม่เข้ามาใช้ในประเทศ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเพื่อการดูดซับกักเก็บคาร์บอน ที่ไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้ทดแทน แต่ต้องใช้เทคโนโลยี Biochar (ถ่านชีวภาพ) หรือการอัดคาร์บอนลงไปในดิน ต้องมีการใช้พื้นดินมากักเก็บคาร์บอน เป็นต้น"นายเกียรติชาย กล่าว

หลายประเทศในยุโรป จะเน้นหนักไปในเรื่องของเทคโนโลยีในการรับมือกับโลกร้อน เพราะบางพื้นที่ไม่มีพื้นดิน และมีฟอสซิลจำนวนมาก บางประเทศมีการกักเก็บคาร์บอน ก๊าซเรือนกระจกที่ทะเล และอัดคาร์บอนในวัสดุต่างๆ เป็นต้น 

นายเกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า เทคโนโลยีที่น่าสนใจของประเทศนั้น สามารถนำมาใช้ได้จำนวนมาก แต่จะเป็นการดีที่สุดหากเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากฝีมือคนไทย ไม่ใช่นวัตกรรมที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อย่าง เทคโนโลยี Biomass Energy(พลังงานชีวภาพ)ที่เป็นการใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชมาเป็นเชื้อเพลิง  หรือเทคโนโลยีที่สามารถคาดการณ์ภูมิอากาศประจำวันได้ยาวที่สุดและถูกต้อง เทคโนโลยีป้องกันน้ำท่วม  เทคโนโลยีในการผลิตน้ำประปาเพื่อบริโภค อาหารที่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเพื่อหาพันธุ์พืชใหม่ๆ และรักษาพันธุ์พืชเดิมไว้

"สิ่งที่ อบก.ดำเนินการมาตลอดคือ การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องมีเทคนิค MRV (คู่มือระเบียบวิธีระบบการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ ) ที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคป่าไม้ โดยรูปแบบพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีหลายแบบ เช่น Green hydrogen  หรือ Blue hydrogen  EV Green เป็นต้น"นายเกียรติชาย กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความท้าทาย จะต้องมีเรื่องของการทำอย่างไรให้นวัตกรรม เทคโนโลยีมีราคาถูก และกระบวนการต้องไม่มีปัญหากับสิ่งแวดล้อม และสร้างงานเป็นงานใหม่ 

ทั้งนี้  อบก.มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก  และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยมีมากกว่า  50 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะแตกต่างกัน แต่ใช้ได้ผล และมีวิธีการคำนวณที่จะเป็นแพลตฟอร์ม อาทิ การประเมินต้นไม้จะใช้เทคโนโลยีมาคำนวณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

"ถ้าประเทศไทยมีเทคโนโลยีของตนเองเกิดเป็น Climate Tech Thailand ไม่ต้องไปซื้อต่างประเทศ โดยเริ่มจากงานวิจัย และไม่ต้องไปคิดเรื่องไกลตัว แต่คิดในสิ่งที่เราทำได้จะช่วยให้ประเทศช่วยลดโลกร้อน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ "นายเกียรติชาย กล่าว 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์