โลกร้อนกับข้อตกลงการค้า เอกชนร้องรัฐเร่งรับมือเป็นวาระใหญ่

โลกร้อนกับข้อตกลงการค้า เอกชนร้องรัฐเร่งรับมือเป็นวาระใหญ่

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดประชุมประเมินสถานการณ์ และจัดทำแผนผลักดันการส่งออก ครึ่งปีหลัง 2566 ร่วมกับภาคเอกชน ผลการประชุมได้ข้อสรุปแผน 7 ภูมิภาค พร้อมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 350 กิจกรรม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ

รวมกว่า 550 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 19,400 ล้านบาท โดยมีการกำหนดเป้าส่งออกแต่ละภูมิภาคพร้อมมูลค่าคาดการณ์ ประกอบด้วย ภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป้าหมาย+ 20% คิดเป็นมูลค่า 5,380 ล้านบาท เอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย +2.2% คิดเป็นมูลค่า 4,163 ล้านบาท จีน และฮ่องกง แบ่งเป็นจีน +1% และฮ่องกง +2% คิดเป็นมูลค่ารวม 3,238 ล้านบาท 

ยุโรป +1% คิดเป็นมูลค่า 2,450 ล้านบาท สหรัฐแบ่งเป็น อเมริกาเหรือ +4.5% และละตินอเมริกา +4% คิดเป็นมูลค่ารวม 2,380 ล้านบาท เอเชียใต้ +10% คิดเป็นมูลค่า 980 ล้านบาท อาเซียน +6.6% คิดเป็นมูลค่า 808 ล้านบาท 

"กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ รักษาตลาดเดิม และฟื้นฟูตลาดเก่า ด้วยกลยุทธ์สำคัญ อาทิ การเร่งจัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อขยายตลาดศักยภาพ การส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน การจับคู่เจรจาธุรกิจทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ การผลักดันการส่งออกสินค้า BCG : Bio-Circular-Green Economy และสินค้านวัตกรรมใหม่ การส่งเสริมธุรกิจบริการมูลค่าสูง โดยเฉพาะดิจิทัลคอนเทนต์ HORECA ร้านอาหาร Thai Select และการปูพรมเจาะตลาดเมืองรอง โดยเฉพาะในอาเซียน สหรัฐ และยุโรปตามแผนดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ และเอกชนเห็นพ้องกันว่า ปี 2566  คาดว่าการส่งออก จะขยายตัวได้1-2%"

หากมองจากฝั่งคนทำงานการตั้งเป้าหมายไว้สูงเป็นสิ่งที่ดีแต่ปี 2566 เป็นเหมือนจุดสตาร์ตที่มีเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านทางการค้าไปสู่ความยั่งยืน โดยเริ่มจาก มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป  (อียู)ที่กำหนดให้ระหว่างปี 2023-2025 ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยงานประสานงานกลางของ CBAM (Authorized Declarant) รายไตรมาส โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค.2023

ขณะที่สหรัฐมีการเสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยจะเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง มีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษ และกระดาษ และเอทานอล โดยกฎหมายของสหรัฐ จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567

ไม่เพียงสหรัฐ และอียูเท่านั้นที่เริ่มนับหนึ่งด้วยการวางกฎทางการค้าให้ตอบสนองปัญหาโลกร้อนด้วยการมุ่งใช้กลไกภาษีมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่มีแผนจะออกมาตรการในลักษณะเดียวกันนี้ ประเทศไทยซึ่งมีรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพีหากทุกประเทศกำหนดกติกาทางการค้าว่าด้วยการลดโลกร้อนออกมาเกิดคำถามว่าไทยมีความพร้อมหรือไม่

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนพร้อมร่วมมือรัฐบาลผลักดันการตั้งรับมาตรการทางการค้า และการทำธุรกิจที่ต้องตอบโจทย์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Changeให้ได้ เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขใหม่ทางการค้าที่หากไทยไม่พร้อม กติกาใหม่อาจกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าไทย 

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากการปรับรูปแบบใหม่ของห่วงโซ่อุปทานโลก หรือ  Reshaping supply chains เนื่องจากไทยมีศักยภาพด้านแหล่งผลิต และวัตถุดิบที่ตอบสนองความต้องการ และสามารถรองรับการปรับรูปของซัพพลายเชนโลกได้ โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์ได้แก่ อาหาร ยางพารา  ซึ่งเป็นผลพวงจากนโยบาย “China Plus One” ที่ต้องการลดพึ่งพาตลาดจีนอย่างเดียว 

ท่ามกลางสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ในโลกแห่งการค้า แต่ไทยในฐานะผู้เล่นในเวทีนี้จะต้องเข้าใจสถานการณ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อปรับตัว และรู้จักใช้ประโยชน์จากกติกาใหม่ไม่ใช่ปล่อยให้กติกากลายเป็นอุปสรรคทางการค้า ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายฟันฝ่ามรสุมความเปลี่ยนแปลงนี้ไปให้ได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์