โลกร้อน "ต้นเหตุต้นทุน" ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยหนุนไทยมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน

โลกร้อน "ต้นเหตุต้นทุน" ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยหนุนไทยมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน

​การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และภาวะโลกร้อนที่เป็นตัวเร่งให้เกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ประชาคมโลกได้มีการกำหนดกติกาใหม่เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

โดยในภาคอุตสาหกรรมมีการกำหนดกติการที่หลากหลายทั้งในการควบคุมจากผู้ผลิตตลอดซัพพลายเชนซึ่งรวมถึงประเทศต้นทางที่จะเป็นที่ตั้งของโรงงานที่จะใช้เป็นฐานการผลิตที่บริษัทที่จะเข้ามาลงทุน เริ่มมีข้อเรียกร้องให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอนเพื่อตอบโจทย์คู่ค้าในซัพพลายเชนว่าการผลิตของสินค้าไม่มีส่วนสร้างปัญหาภาวะโลกร้อน

​ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่าประเทศไทยได้มีการกำหนดนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในเรื่องของเป้าหมายความยั่นยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะตอบโจทย์การพัฒนาดังกล่าวได้ โดยการผลักดันเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น

​"ในเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนถือเป็นทิศทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและกำหนดเป็นกติกาใหม่ที่จะมีผลบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศต่างๆผ่านทั้งกติการการค้า และการลงทุน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ในแผนพัฒนาฉบับฯนี้จะต้องแปลงจากแผนและนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างแท้จริงเนื่องจากมีแรงกดดันจากกติกาภายนอกประเทศมากำหนดมากขึ้นทั้งในเรื่องการส่งออกและการลงทุน"

​ในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้ากติกาที่กำลังจะมีผลกับประเทศไทยก็คือกติกาเรื่องของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป(CBAM)ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยที่จะขายสินค้าเข้าไปยังสหภาพยุโรปต้องเจอกับมาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งเสมือนกำแพงการค้ารูปแบบใหม่ที่ทำให้ผู้ผลิตที่จะส่งสินค้าไปขายต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ ​

​นอกจากในเรื่องของสินค้าที่จะส่งออก ประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวรองรับก็คือความต้องการพลังงานสะอาดที่ใช้ในกระบวนการผลิตหรือในบางอุตสาหกรรมที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในกิจการที่ต้องการพลังงานสะอาดในการผลิตแบบ 100% (กลุ่มRE100) ทำให้ประเทศไทยมีแผนที่จะทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น

​สำหรับเรื่องการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากเรื่องของภาวะโลกร้อนยอมรับว่าเป็นเรื่องที่รับมือได้ยาก เนื่องจากในปัจจุบันภัยพิบัติเกิดบ่อย มีความรุนแรงและคาดเดาได้ยากขึ้น จากภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจยังอยู่ในภาคเกษตรมาก จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2543 – 2562 ความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นเฉลี่ยอยู่ที่0.82% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถือว่าสูงสุดเป็นอันดับ 9 ของโลกโดยในปี 2554 ความเสียหายจากน้ำท่วมสูงถึง 1 ล้านล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตหลายราย

จะเห็นว่าผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดกับประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ “น้ำ” คือน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งนอกจากความเสียหายที่เกิดกับพืชผลทางเกษตร และปศุสัตว์ รัฐบาลจะต้องเตรียมงบกลางฯในการใช้จ่ายเยียวยาผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และน้ำแล้งปีละนับหมื่นล้านบาทสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติมีการวางแผนในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันกับในระดับพื้นที่จะเน้นไปที่การทำแหล่งน้ำขนาด กลาง และขนาดเล็กทั้งฝาย และอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และรองรับปริมาณน้ำที่มีมาในฤดูฝนและสร้างกลไกการบริหารน้ำในชุมชนให้มีประสิทธิภาพโดยใช้กลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำมาช่วยในการสั่งการและการบริหารน้ำในพื้นที่ซึ่งรวมทั้งการกำหนดสัดส่วนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการจัดการน้ำไปยังพื้นที่เกษตรอย่างเหมาะสม และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

​สำหรับประเด็นการปรับตัวของภาคเกษตรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมินั้นต้องเน้นไปที่การเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร สร้างความรู้ให้กับเกษตรกรให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร และเครื่องจักรในการทำเกษตร (mechanization)มากขึ้น ขณะเดียวกันขณะนี้มีการทำเกษตรแบบใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยซึ่งทำให้ปลูกน้อยลงแต่ได้รายได้มากขึ้น เช่น การปลูกถั่วบางชนิดเพื่อส่งให้เป็นผลิตภัณฑ์ในการทำอาหารจำพวก Plant Base ที่มีตลาดที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆและสร้ารายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่าการทำเกษตรแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ต้องผลักดันเรื่องของเกษตรแม่นยำควบคู่กันไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรของไทยทั้งในเรื่องของการปรับตัวรับมือกับภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรงมากขึ้น

​การแก้ปัญหาต่างๆหากเข้าใจถึง"ต้นเหตุ"ก็จะทำให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จได้ และหากปัญหาที่ว่านี้ได้สร้าง"ต้นทุน"ทางเศรษฐกิจ ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การแก้ไข และป้องกันปัญหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และมีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนเป็นเครื่องมือป้องกันความเสียหายต่างๆที่จะเกิดขึ้น