สรรพสามิตเร่ง"Green tax" ผ่านยุทธศาสตร์ “EASE Excise”

สรรพสามิตเร่ง"Green tax"  ผ่านยุทธศาสตร์ “EASE Excise”

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก กรมสรรพสามิตหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางผ่านมาตรการทางภาษี

เพื่อช่วยลดผลกระทบดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันกรมฯได้มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิตที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมภิบาลหรือESG

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กรมฯได้นำยุทธศาสตร์ “EASE Excise”โดยมีกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ E (ESG/BCG Focus) เป็นการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับสินค้าและบริการภายใต้หลักการESG และสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)

A (Agile ways of work) มุ่งเน้นยกระดับการทำงานและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่หลากหลาย (Multi Skills) และส่งเสริมการทำงานรูปแบบคล่องตัว  อย่าง Agile ต่อมาคือ  S (Standardization) เป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการ (Service Standard) เปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) อีกทั้งยังปรับปรุงและปฏิรูปกฎหมาย (Law & Regulation Reform) และนำระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม (ESG) มาใช้ภายในกรมสรรพสามิต

E (End-to-end Customer Service) เป็นการพัฒนาบริการที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยออกแบบประสบการณ์ของผู้เสียภาษี (User Experience) และให้บริการในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ (Omni-Channel) ตลอดจนสร้างต้นแบบหน่วยงานบริการแบบไร้กระดาษ (Paperless)

สำหรับนโยบายของกรมฯที่เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยมาตรการดังกล่าวมุ่งหวังให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค ตามเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งไว้ และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยมลพิษจากภาคการขนส่ง และขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 15 บริษัท

2.การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ และมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพสูงของประเทศ (New S-Curve)

อย่างไรก็ดี การผลิตแบตเตอรี่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ หากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไม่มีระบบการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานแล้วนั้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จึงต้องพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีที่ครอบคลุมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) โดยการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ กรมสรรพสามิตได้ร่วมกับผู้แทนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการศึกษาแนวทางส่งเสริมให้นำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากการนำไปผลิตเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับ BCG Economy

นอกจากนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรม โดยจะเริ่มจากการสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการผลิตสินค้า สอดคล้องกับนโยบายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของรัฐบาล อีกทั้ง จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบทางการเกษตรในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าการศึกษาภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้น เป็นภาษีที่เก็บจากการก๊าซคาร์บอน ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกเริ่มเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)ของสหภาพยุโรป (EU) โดย CBAM คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง

สำหรับประเทศไทยกรมฯได้เริ่มนำอัตราภาษีที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยรถยนต์ที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะจัดเก็บอัตราภาษีต่ำ และอัตราภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งสอดคล้องกับหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle : PPP) ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บเพื่อภาษีคาร์บอนมาใช้

โดยฐานที่ใช้ในการเก็บภาษีคาร์บอนมี 2 แบบหลักๆ ได้แก่ 1.การจัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า และ 2.การจัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภคสินค้า ซึ่งกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบใดในการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งต้องพิจารณาถึงบริบทและความเหมาะสมของประเทศไทย

เอกนิติ ยังกล่าวถึงทิศทางกฎหมายลดโลกร้อนของไทยด้วยว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านกลไกต่างๆ เช่น การรณรงค์ให้งดใช้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีและมาตรการทางภาษีสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) อยู่ระหว่างจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ที่ 40% ภายในปี พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ดี การใช้กลไกทางกฎหมายต้องมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ การมีมาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และควรมีการบทกำหนดโทษ (Penalty) ที่ชัดเจนสอดคล้องกับหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluters Pay Principle : PPP) นอกจากนี้ ควรมีแผนปฏิบัติการ กรอบระยะเวลาดำเนินการและคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามวิสัยทัศน์ของภาครัฐด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่กำหนดไว้ เช่น ต้องการให้ประเทศไทยจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี ค.ศ. 2050