“ไฮโดรเจน”ทางเลือกพลังาน ทางรอดสู่ความยั่งยืน

“ไฮโดรเจน”ทางเลือกพลังาน   ทางรอดสู่ความยั่งยืน

“ไฮโดรเจน” คือพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง แม้จะมีแหล่งเชื้อเพลิงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นแหล่งพลังงานสะอาด หรือ กรีนไฮโดรเจน และแหล่งจากพลังงานทั่วไป เพราะกระบวนการผลิตไฮโดรเจนต้องใช้ไฟฟ้าสูง

ข้อมูลจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล่าว่าแก๊สไฮโดรเจนไม่มีอยู่ในธรรมชาติที่สามารถเก็บเกี่ยวออกมาใช้ได้ทันที เหมือนพลังงานธรรมชาติอื่นๆ ที่คุ้นเคยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติอื่นๆ

ไฮโดรเจน ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ และต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทำให้ราคาไฮโดรเจนปัจจุบันยังสูงมากไม่สามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้       สำหรับเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนปริมาณมากมีหลายวิธี ปัจจุบันมีความพยายามนำแก๊สไฮโดรเจนจะมีบทบาทเป็นพาหะพลังงาน (Energy carrier) เพื่อให้การใช้พลังงานไฮโดรเจนที่สะดวกจะเป็นการนำไปผลิตไฟฟ้าสำหรับสิ่งต่างๆ ทั้งการใช้ประจำที่ในบ้านเรือน สำนักงาน โรงงาน หรือการใช้เคลื่อนที่ในยานพาหนะต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญคือ เซลล์เชื้อเพลิง

ล่าสุดบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (ปตท.)บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด(TMT)และ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด(BIG) ได้ต่อยอด“โครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระบบสาธิตการใช้HydrogenในรถFCEV”ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง“PTT – OR – TOYOTA – BIG”ที่ได้เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station)ไปเมื่อวันที่8พ.ย.2565ที่ผ่านมา

 โดยได้เพิ่มขีดความสามารถ สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Station)ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ในการเติมHydrogenจากที่สามารถเติมให้กับรถยนต์Toyota Miraiซึ่งมีความจุHydrogenที่5.6กิโลกรัม เพิ่มเป็นความจุสูงสุดที่50กิโลกรัม เพื่อขยายผลการใช้งานในรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังส่งผลให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิงอีกด้วยซึ่งไฮโดรเจนจากบีไอจีเป็นพลังงานสะอาดและมาจากเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากการทดสอบการเติมไฮโดรเจนให้กับรถบรรทุก รถหัวลาก และรถโดยสารพลังงานไฮโดรเจน นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำรถกลุ่มนี้เข้ามาทดสอบการใช้งานในประเทศไทย โดยกิจกรรมทดสอบการใช้งานรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทภาคียานยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำ ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส จำกัด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์ส จำกัด 

ในนามCommercial Japan Partnership Technologies (CJPT)ที่มีเป้าหมายในการขยายพันธมิตรภายในภูมิภาคเอเชีย เพื่อขยายผลการดำเนินงานด้านการจัดการพลังงานทางเลือก (Energy Solution)และด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution)จึงได้นำเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดหลากหลายรูปแบบให้ทุกภาคส่วนได้ทดลองใช้งาน 

ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานเพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions)ต่อไป

ความพยายามพัฒนาการใช้งานจาก“ไฮโดรเจน”เพื่อแสวงหาทางเลือกเพื่อเป็นทางรอดอย่างยั่งยืนนั้นเป็นความท้าทายที่แม้จะอยู่ในขั้นทดลองใช้ในพื้นที่จำเป็นแต่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง