โรดแมปดันไทยสู่ Green Gold เชื่อคาร์บอนเครดิตช่วยเปลี่ยนโลก

โรดแมปดันไทยสู่ Green Gold เชื่อคาร์บอนเครดิตช่วยเปลี่ยนโลก

“วราวุธ” เปิดโรดแมปแก้ปัญหา climate change ก้าวสู่ยุค Green Gold ดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมย้ำทุกภาคส่วนปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ อย่ามองเป็นภาระ แต่เป็นโอกาส ทางรอดของประเทศ ระบุคาร์บอนเครดิตช่วยเปลี่ยนโลก

Keypoint:

  • โรดแมปไทย จัดทำทั้งแผนระยะสั้นระยะยาว เปลี่ยนผ่านยุคBlack Gold สู่ Green Gold  เชื่อคาร์บอนเครดิตช่วยเปลี่ยนโลก
  • ความยั่งยืนประเทศเกิดขึ้นได้จริง หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ ลดและแก้ปัญหาclimate change
  • สิ่งแวดล้อม climate change ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาสภาคธุรกิจ ทางรอดประเทศ

ความยั่งยืนและความอยู่รอดขององค์กร ไม่ใช่เพียงเรื่องของผลกำไรอีกต่อไป แต่ต้องยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย เพราะต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ล้วนเกิดมาจากภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์

ขณะเดียวกัน ทิศทางของโลกกำลังเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ นานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมถึงประเทศไทย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษ Go Green : Thailand Roadmap ในเวทีสัมมนา Go Green 2023 : Business Goal to the Next Era จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่าขณะนี้ไม่มีผู้นำคนไหนไม่พูดถึงปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในโลก ซึ่ง World Economic Forum (2022) ได้ประเมินความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดของโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้า

โดยมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม  5 ข้อ ใน 10 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจก ภัยธรรมชาติ ความแปรปรวนสภาพอากาศแบบสุดขั้ว และความสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ  และอีก 10 ปีข้างหน้าถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาในวันนี้ ปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต

แผนเลี่ยงลดเสี่ยง"โลมาอิรวดี" โครงการสะพานทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา

กลุ่ม ปตท. ลุยธุรกิจน้ำมันเครื่องบินเพื่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้า Net Zero

"พลังงาน-ขนส่ง" เคลื่อนไทย สู่เป้าหมายคาร์บอนศูนย์

 

แผนระยะสั้น-ระยะยาวเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

“ทั่วโลก ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ พายุหิมะ หรือแม้แต่ในประเทศอังกฤษเมื่อฤดูร้อนของอังกฤษ ปี 2022 พบว่าสนามบินร้อนจนยางมะตอยละลาย เครื่องบินบินขึ้นไม่ได้ แต่พอมาต้นปี 2023 กลับพบว่า อากาศหนาวจัด หิมะถล่ม เครื่องบินบินขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน  หรือในประเทศไทย นอกจากเจอโควิดแล้ว จะประสบปัญหาน้ำท่วมในทุกปี ซึ่งสมัยรัฐบาล เจอปัญหาน้ำท่วมในปี 2564-2565 และในรัฐบาลหน้าจะเข้ามาแก้ปัญหาภัยแล้วพอรัฐบาลถัดไปก็จะแก้ปัญหาน้ำท่วม สลับกันไปแบบนี้”นายวราวุธ กล่าว

ไทยมีความเปราะบางเรื่องของภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเทศผลิตก๊าซเรือนกระจกลำดับที่ 19 ของโลก ปล่อยเพียง 0.8% เท่านั้น แต่เวลาเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ กลับเป็น 1 ใน10 ที่ได้รับผลกระทบมากสุด เกิดความสูญเสียหายมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมต่อประเทศ

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ไปแสดงเจตจำนงต่อนานาประเทศถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)  ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย การจะกระทำการเหล่านั้นได้ต้องมีแผนระยะสั้นและแผนระยะยาว ระบุว่าแต่ละภาคส่วนต้องทำอะไรบ้าง คาดการณ์ว่าในปี 2025 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุด 388 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งอีก 7 ปี หรือภายในปี 2030 ทุกภาคส่วนต้องลดก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ 40%

 

เช็กเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละภาคส่วน

“ได้มีการทบทวนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขาในอีก 2 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย สาขาพลังงานและภาคขนส่ง ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเพิ่มจาก 153 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็น 216 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า, ภาคอุตสาหกรรมคงที่ 2.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า, ภาคของเสีย 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดเพิ่มเป็น 2.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และภาคเกษตรตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”นายวราวุธ กล่าว 

 นอกจากนั้น ขณะนี้ทางทส.ได้มีการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) โดยเป็นการนำร่องทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง 

“โครงการ Thai Rice NAMA ที่ผมรู้ดี เพราะ 1 ในแปลงทดลองปลูกอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีอีก 4 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง และสระบุรี ใช้วิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง คือตอนข้าวตั้งท้อง เอาน้ำออกจากนาให้หมด นอกจากข้าวไม่ตายแล้ว ตรงกันข้ามยังให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 20-30% และใช้ปริมาณน้ำน้อยลงครึ่งหนึ่ง ลดพลังงานสูบน้ำทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือมีเทนที่เกิดขึ้นหายไป 70%”  นายวราวุธ กล่าว

รวมถึงมีการทำงานร่วมกับ GCFในการขยายผลต่อเพิ่มขึ้นเป็น 21 จังหวัด ตั้งเป้าจาก 1 ล้านตัน เพิ่มการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ถึง 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศประมาณ 120 ล้านยูโร เพราะการจะปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวต้องปรับหน้าดินให้มีความเรียบ และต้องมีงบประมาณเข้ามาช่วยสนับสนุน

ใช้เทคโนโลยี แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอน

ส่วนการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งทส.ได้มีการวางกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะเป็นกลไกหลักเกณฑ์ซื้อขายคาร์บอน การประเมิน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีผลบังคับใช้ที่ชัดเจน

 ทั้งนี้  ได้มีการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมแล้วเป็นจำนวน 141 โครงการ คิดเป็นปริมาณ 14.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  และขณะนี้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยมีการซื้อขายไปประมาณ 2 ล้านกว่าตันคาร์บอน มูลค่า 100 กว่าล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบจะตกตันละเกือบ 75 บาท แต่ในอนาคตอันใกล้จะขึ้นเป็นตันละ 100 กว่าบาท หรือ 1,000 กว่าบาท 

รวมทั้ง ตอนนี้ได้ตั้งกระดานซื้อขายคาร์บอน Carbon Credit Exchange Platform  ซึ่งในโครงการนี้จะมีนิติบุคคลเข้าร่วมประมาณ 37 บัญชี และมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ประมาณ 3,000 กว่าตัน ตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น กำลังยกระดับการพัฒนาสู่ Premiun T-VER เพื่อทำให้มาตรฐานการประเมินคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทยเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า นอกจากใช้เทคโนโลยี T-VER แล้วสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ในการจัดทำระบบประเมินคาร์บอนเครดิตโดยใช้ดาวเทียม ซึ่งพบว่ามีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกกว่า Flux-Tower  ที่จะสามารถมอนิเตอร์การเกิดคาร์บอนได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเท่าที่ประเมินคร่าว ๆ หากต้องการมอนิเตอร์พื้นที่ทั่วประเทศ 323 ล้านไร่ จะต้องมีการลงทุนติดตั้งเสาจำนวน 1,000 กว่าต้น ต้นทุนต้นละ 7-8 ล้านบาท เท่ากับจะใช้เงินลงทุน 7,000-8,000 ล้านบาท ก็จะสามารถมอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ ว่าเกิดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์มาจากไหน ปริมาณเท่าไหร่

ผนึกเอกชน เพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก  

สิ่งที่สำคัญอีกส่วน คือ การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับเรือนกระจก  ซึ่งในปี 2565 ทส.ได้มีการเตรียมพื้นที่ประมาณ 6 แสนไร่ โดยผู้พัฒนาโครงการ T-VER  ร่วมปลูก และดูแลรักษาป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยแบ่งปันเครดิต ให้แก่ผู้พัฒนาโครงการร้อยละ 9- และหน่วยงานของรัฐ ร้อยละ 10 หรือตามข้อตกลง

ขณะนี้มีจำนวนบริษัทเข้าร่วมแล้ว 26 แห่ง รวมถึงมีโครงการในการรับรองคาร์บอนเครดิต การปลูกป่ายั่งยืน โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่บ้านโค้งตาบาง เพชรบุรี ป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเครดิต หรือแม้การปลูกป่าอย่างยั่งยืนของโรงไฟฟ้า ราชบุรี เป็นต้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่าการมีต้นไม้อย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีการสกัดและกักเก็บคาร์บอนในอากาศร่วมด้วย ซึ่งภาครัฐได้ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2040  จะมีการนำเทคโนโลยีเพื่อการดับจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (CCUS) โดยทส.และภาคเอกชนต้องมาร่วมกันศึกษาศักยภาพของ CCUS ทั้ง 5 เรื่อง ได้แก่

1.ด้านการสำรวจพื้นที่ศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของประเทศไทย เบื้องต้นพบว่าพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยสามารถเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนได้ถึง 7,000 ล้านตัน หากเก็บได้จริงๆแล้วสามารถมีเทคโนโลยีได้ เราจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจากการกักเก็บคาร์บอนขายได้

 2. การปรับระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.การคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

4.รูปแบบการลงทุน

5.มูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ขณะนี้ในส่วนของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) อยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนในโครงการ นำร่องดักจับกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ (CCS) โครงการแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย คาดว่าจะสามารถเก็บได้ 1 ล้านตันคาร์บอน และ ทางทส.ได้ประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาออกมาตรการเพื่อสนับสนุนเอกชนในด้านนี้

นอกจากนั้น ในการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ  ข้อ 6.2 ความตกลงปารีส กลไกตลาดรูปแบบความร่วมมือโดยสมัครใจภายใต้แนวทางความร่วมมือที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC  ซึ่งโครงการพิจารณาจะสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่แผนระยะสั้นและแผนระยะยาว ระยะเวลาการรับรองคาร์บอนเครดิต ไม่เกินแผนระยะสั้น 2030 และส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน  

 ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการดำเนินการเรื่องการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ระหว่างไทยกับ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยขณะนี้มี Bangkok E-Bus รถโดยสารประจำทางไฟฟา ไทย-สวิส สามารถลดก๊าซเรือนกระจำ 500,000 คาร์บอนได้ออกไซด์ ในปี 2030 ลดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมี เป้าหมายของโครงการเปลี่ยนรถเมล์ให้เป็น E-Bus 100%

ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ส่วนเรื่อง การค้าการลงทุน ขณะนี้ EU ได้มีการออกมาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM โดยตอนแรกๆ ที่ได้มีการศึกษา มีการจัดเก็บกับสินค้า 5 กลุ่ม ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อลูมิเนียม และกระแสไฟฟ้า แต่ขณะนี้มีการเพิ่มในส่วนของกระดาษ ยิบซัม  แก้ว ปิโตรเคมี ผลิตและกลั่นปิโตรเลียม และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการกำหนดภาคเกษตรเข้ามา อีกทั้งไม่ใช่เพียงEU แต่สหรัฐอเมริกาก็มีมาตรการออกมาเช่นเดียวกัน

“วันนี้ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร และพี่น้องประชาชนต้องปรับเปลี่ยน ปรับวิธีการดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ ต่อให้มีการเลือกตั้งกี่รอบ นายกฯอีกกี่คนก็จะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกๆ ฝ่ายต้องร่วมกัน เวทีนี้ เป็นเวที 49 ของผม ทำให้ภาคเอกชนหลายฝ่ายก้าวหน้าไปกว่าภาครัฐอย่างมาก” รมว.ทส. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ได้รับเงินสนับสนุนจาก ThaiCI 4.4 ล้านยูโร จากประเทศเยอรมนี เพื่อสนับสนุนโครงการสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ท้องถิ่น ภาคเกษตรกร หรือ ทุกภาคส่วนใช้เงินในกองทุนดังกล่าวได้

“ภาคเอกชน ต้องทำความเข้าใจ การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไม่ใช่เป็นภาระ แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจและทางรอดของประเทศ ซึ่งการเดินทางจากนี้ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมต้องมานั่งคิดว่าจะการปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และทำให้ให้โลกเดินไปข้างหน้าได้ ต้องมองว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ ต้องมีการจัดทำกลยุทธ์ให้เท่ากับเป้าหมายประเทศ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และต้องปรับตัวทำอย่างไรให้ลดปัญหา และทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกับปัญหาได้” นายวราวุธ กล่าว

จดทำกฎหมาย-ตั้งกรม climate change

อุบัติการณ์ของคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้น ต่อให้เป็นการฟอกเขียวแล้วเป็นอย่างไร เพราะปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เกิดจากบริษัทใหญ่ๆ วันนี้เป็นเวลาที่บริษัทใหญ่ เมื่อสร้างความเสียหายให้แก่โลก ต้องจ่ายในรูปแบบของคาร์บอนเครดิต แต่ถ้าถ้าไม่สามารถซื้อได้ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ ต้องมาชดเชยให้โลก ให้แก่ประชาชน เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม หรือประเทศใหญ่ อย่าง EU สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าจะให้ประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ ประเทศใหญ่ต้องช่วยประเทศไทย

“เรากำลังก้าวออกจาก Black Gold สู่ Green Gold หรือคาร์บอนเครดิต ได้เวลานำคาร์บอนเครดิตเปลี่ยนโลกใบนี้ ต้องมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และอีก 20-30 ปี จะสู่ Green Hydrogen”รมว.ทส.กล่าว

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ทส.นอกจาดำเนินการในภาคปฎิบัติแล้ว ขณะนี้กำลังผลักดันเรื่องของกฎหมาย  (ร่าง) พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ....ซึ่งร่างดังกล่าวตอนแรกจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีไปตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย กฎหมายฉบับดังกล่าวในเบื้องต้นจะเป็นไปตามความสมัครใจ แต่ ขณะนี้คงสมัครใจไม่ได้ แต่ต้องบังคับ

ขณะนี้กำลังมีการจัดทำกฎเกณฑ์ต่างๆ การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon pricing) ว่าแต่ละภาคส่วนจะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณเท่าใด ตอนแรกคิดว่าจะได้ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เดือนเม.ย.2566 และจะเสนอคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนก.ย. 2566 ซึ่งต้องมานั่งลุ้นว่าการแก้ไขสามารถผลักดันภาคส่วนต่างๆ ในประเทศได้มากน้อยอย่างไร

รวมถึง เป็นครั้งแรกในหน่วยงานราชการที่ได้มีการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรม climate change โดยมีเงื่อนไขต้องไม่จ้างคนเพิ่ม และไม่ใช้เงินเพิ่ม ทำให้การตั้งกรม climate change ไม่ได้เป็นการจ้างคนใหม่เข้ามา แต่เป็นการนำคนที่อยู่ในทส. และปรับภารกิจในกระทรวง ทส.โยกมาจากหน่วยงานต่างๆ มาตั้งเป็นกรมใหม่ ซึ่งกรม climate change จะมีเจ้าหน้าที่บุคลากรทั้งหมด 545 คน และใช้งบประมาณรวม 460 ล้านบาทเป็นเงินประมาณที่อยู่ภายในทส.เอง คาดว่าจะจัดตั้งเม.ย.-พ.ค.2566 นี้

“Climate Change”ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเปลี่ยน

ภาคเอกชน เมื่อปีที่ผ่านมา ทส.ได้มีการจำลองนำCOP มาไว้ในประเทศไทย  เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน สภาพถึงปัญหา แนวทาง มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยี ทำให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่พร้อมๆ กัน ทั้งหมดที่กล่าวมา

“ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยทำได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ตายแน่นอน การจะเดินไปข้างหน้า ความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือกว่ารัฐบาลหน้า หรือรมว.ทส.คนต่อไปจะทำหรือไม่ แต่มันเป็นทางรอดของประเทศ ถ้าหากไม่เร่งปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องพูดถึงปัญหาการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ เพราะตายกันหมดทั้งประเทศ" รมว.ทส. กล่าว

นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย แต่วันนี้เป็นเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ เรื่อง Climate Change เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนเอง อย่ารอให้ใครมาเปลี่ยน ถ้าเราไม่ทำ ใครจะเป็นคนทำ และถ้าไม่เริ่มวันนี้จะเริ่มเมื่อใด เพราะเวลาน้ำท่วม น้ำแล้ง ธรรมชาติไม่ได้ถามและไม่เลือกว่าจะท่วมพรรคไหน หรือรัฐบาลไหน  ทุกคนต้องทำด้วยกัน เพราะประเทศไทยถ้าอะไรที่ทำด้วยกัน เราจะทำกันได้