ลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต

ลดก๊าซเรือนกระจก  ด้วยกลไกคาร์บอนเครดิต

ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักรพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม แสดงเจตนารมย์ของประเทศไทย ที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจก

ผ่านแสดงเจตนารมย์ของประเทศไทยที่ได้ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality)ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

 ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกโดยมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นทำให้ตลาดคาร์บอนทวีความสำคัญในฐานะกลไกที่จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมที่จะช่วยชะลอและลดปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปีที่ผ่านมาตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกเติบโตขึ้น 43% (State and Trends of Carbon Pricing 2022, World bank)

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ได้พัฒนา “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program)” หรือ “โครงการT-VER” เพื่อเป็นกลไกภาคสมัครใจที่สนับสนุนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ กรอบการดำเนินโครงการ T-VER สอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 14064-2 และการตรวจสอบความใช้ได้โครงการและทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกดำเนินการโดยผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (Validation and Verification Body: VVB) และผู้พัฒนาโครงการสามารถนำปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” มีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)” ไปใช้ในการแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเพื่อให้ผู้ซื้อนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ผลิตภัณฑ์ บุคคล หรือการจัดงาน หรือนำไปใช้รายงานผลการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น รายงานประจำปี เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ (Green Growth Economy and Low Carbon Society)

โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 27 กันยายน 2565) คณะกรรมการอบก. ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER รวมทั้งสิ้น 310 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดหรือกักเก็บได้รวมทั้งหมด 10,593,481 tCO2eq/year และให้การรับรองคาร์บอนเครดิตรวมทั้งสิ้น 13,514,836 tCO2eq จาก 264 โครงการ เกิดมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 150,769,357 บาท จากปริมาณคาร์บอนเครดิต 1,958,547 tCO2eq

นอกจากนี้ อบก. และมูลนิธิ Future of the carbon market (Zukunft des Kohlenstoffmarktes) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีความร่วมมือกันในการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินโครงการ T-VER โดยมูลนิธิฯ ให้เงินสนับสนุน อปท. ผ่านการยกเลิกคาร์บอนเครดิตจากระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตโครงการ T-VER

รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ T-VER เพิ่มเติมได้ที่ https://ghgreduction.tgo.or.th/t-ver

บทความโดย สำนักประเมินและรับรองโครงการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)