คาร์บอนเครดิต (เบื้องต้น) | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

คาร์บอนเครดิต (เบื้องต้น) | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

แนวความคิดเรื่อง ESG ในวันนี้ มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง (โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ)

เพราะเป็นหลักประกันของการประกอบกิจการที่มีความยั่งยืน อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการที่คำนึงถึงการเติบโตของผลกำไร ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล 

ตัวอย่างของวิธีดำเนินการ ESG ได้แก่

  1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  2. หลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากฟอสซิล
  3. หันมาใช้พลังงานทดแทนที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์
  4. เลือกใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อลดจำนวนขยะ
  5. สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงชุมชนและเกษตรกร เช่น การจ้างงาน, การฝึกอาชีพ, Contract Farming เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขป้องกันและอนุรักษ์ไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี

วิธีการดังกล่าว ก็เป็นหลักการสำคัญของแนวความคิดเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” ในระดับสากลด้วย

คาร์บอนเครดิต (เบื้องต้น) | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2545 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันใน “พิธีสารเกียวโต” โดยอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ถูกบังคับให้มีพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการได้ในฐานะผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการ

ข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต ยังได้กำหนดกลไกต่างๆ ให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ต่อมาในปี 2550 คณะรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” หรือ “อบก.” (Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization : TGO) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรอง และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด

รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการ และการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่ได้รับการรับรอง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ

คาร์บอนเครดิต (เบื้องต้น) | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ได้แก่ ประเทศที่มีภาคธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมีประชากรจำนวนมหาศาล 5 อันดับแรก

ได้แก่ จีน สหรัฐ อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราว 256 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกที่ถูกปล่อยออกมา

หนึ่งในกลไกเพื่อลดภาวะโลกร้อนก็คือ การซื้อขายมลพิษหรือคาร์บอนเครดิตกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงตามที่กำหนดไว้ได้

คาร์บอนเครดิต” หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย

เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้

พูดง่ายๆ ว่า ก๊าซต่างๆ ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี คือหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ ส่วนนั้นก็จะถูกตีราคาเป็นตัวเงิน ก่อนที่จะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้

ตลาดคาร์บอนเครดิต” จึงเป็นตัวกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม โดยการนำสินค้าที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตมาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน

อันจะทำให้เครื่องมือทางการตลาด (Market Mechanism) สำหรับการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมสามารถบรรลุผลได้จริง

ตลาดคาร์บอนเครดิตจะเป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ลงทุนหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีเป้าหมายตรงกันด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม

คาร์บอนเครดิต (เบื้องต้น) | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ตลาดคาร์บอน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

  • ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (มีผลผูกพันและบังคับตามกฎหมาย)
  • (2) ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (เกิดจากความร่วมมือกันเองของผู้ประกอบการและองค์กรต่างๆ เพื่อซื้อขายกันตามสมัครใจ)

ปัจจุบัน มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 อยู่ในรูปแบบของตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ

ภายใต้ อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER) แต่ปัจจุบันการขายคาร์บอนเครดิตก็ยังเกิดขึ้นไม่มาก

แม้ตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยจะดูไม่สูงมากนัก และมีมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากมาย

แต่ตัวเลขการปล่อยมลพิษ (Emissions) ในไทยก็ยังเพิ่มสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก

แต่ผลจากการประชุมระดับโลกในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP26 (พ.ศ.2564) และ COP27 (พ.ศ.2565) ยิ่งจะทำให้เรื่องของ “คาร์บอนเครดิต” มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและชาวโลกมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เราจะต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่องนี้กันอย่างจริงจังมากขึ้น ครับผม!