แผนเลี่ยงลดเสี่ยง"โลมาอิรวดี" โครงการสะพานทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา

แผนเลี่ยงลดเสี่ยง"โลมาอิรวดี" โครงการสะพานทะเลสาบสงขลา-เกาะลันตา

ในพื้นที่ภาคใต้ มีพื้นที่เกาะทีสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ หลายแห่ง นำไปสู่แผนการสร้างสะพานเชื่อมพื้นที่เกาะแต่การก่อสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องคำนึงถึงจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมด้วย และสัตว์ทะเลอย่าง"โลมา"หลายๆชนิด

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ ได้อนุมัติในหลักการการดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา-อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 4,829.25 ล้านบาท

และการขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท ภายในกรอบวงเงิน 1,849.5 ล้านบาท

“ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่เพื่อเป็นทางเชื่อมระหว่างจังหวัดและทางเชื่อมระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่และเกาะตามลำดับซึ่งจะช่วยลดระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้ารวมทั้งยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทเพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

สำหรับโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 มีมติเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว  แม้พื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ซึ่งบริเวณทางด้านทิศเหนือของโครงการห่างจากบริเวณพื้นที่โครงการประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครองโลมาอิรวดี1 โดยพื้นที่หากิน (Home Range) ของโลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาครอบคลุมพื้นที่ประมาน 100 ตารางกิโลเมตร โลมาอิรวดีส่วนใหญ่อาศัยตรงกลางร่องน้ำส่วนลึก สำหรับขอบเขตพื้นที่หากินของโลมาอิรวดีด้านล่างนั้นห่างจากพื้นที่ดำเนินกิจกรรมก่อสร้างแนวสะพานประมาณ 6 กิโลเมตร ในช่วงดำเนินการก่อสร้างแนวสะพานคาดว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโลมาอิรวดีในระดับต่ำ

ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงจังหวัดพัทลุง - สงขลา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง) ประกาศ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2561

ส่วนโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา แม้จะมีความจำเป็นเนื่องจากปัจจุบันการเดินทางระหว่างฝั่งแผ่นดินใหญ่ ตำบลเกาะกลาง และเกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จะต้องผ่านทางหลวงหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ไปยังเกาะลันตาน้อย แม้ว่าจะมีระยะทางเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์สามารถบรรทุกรถยนต์ได้น้อยทำให้เกิดปัญหาของความล่าช้า ผู้โดยสารจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แต่โครงการนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณา รายงาน EIAโดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศได้พิจารณาเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว แต่คาดว่าจะนำเสนอ กก.วล. พิจารณาได้ภายในเดือนต.ค. 2565

อย่างไรก็ตาม กรณีบริเวณเกาะลันตาเป็นบริเวณที่พบโลมาปากขวด (Tursiops aduncus) และโลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างฐานรากสะพาน อาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมา 

ทั้งนี้ โครงการฯ จะหลีกเลี่ยงการก่อสร้างฐานรากสะพานในฤดูมรสุมช่วงเดือนพ.ค.-ก.ย.เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเส้นทางว่ายน้ำของโลมาปากขวดและโลมาหลังโหนก และหากพบเห็นโลมาและสัตว์หายากเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง ให้หยุดก่อสร้างในส่วนที่ก่อให้เกิดเสียงดังหรือสั่นสะเทือนสูง

นอกจากนี้ โครงการได้ออกแบบการก่อสร้างตอม่อสะพานในทะเลเป็นเสาเข็มเจาะ โดยก่อสร้างหลีกเลี่ยงแนวปะการังและหญ้าทะเล แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของโครงการอาจส่งผลกระทบทางอ้อมให้กับแนวปะการังและหญ้าทะเลบริเวณใกล้เคียงแนวเส้นทางโครงการ หากตะกอนและการฟุ้งกระจายที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมสร้างฐานราก

    ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายในเดือนต.ค. 2565 ต่อไป

       ตามแผนที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอแม้จะให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนต่างๆเพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศโดยรวมแล้วแต่สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ จิตสำนึกที่จะร่วมกันทำให้แผนที่กำหนดขึ้นมานี้ มีผลในทางปฎิบัติจริงอย่างรู้จักและเข้าใจคุณค่าแห่งสัตว์น้ำและระบบนิเวศด้วย