เปิดโซลูชันรีไซเคิล - อัพไซเคิลในเอเชีย

เปิดโซลูชันรีไซเคิล - อัพไซเคิลในเอเชีย

โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ประสบความสำเร็จกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้ดำเนินการขยายโซลูชันที่เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกจากการรีไซเคิล และการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (อัพไซเคิล)

ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา โครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ได้ดำเนินการครอบคลุม 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย

พร้อมอัดฉีดเงินทุนสนับสนุนรวม 72,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 2.5 ล้านบาท เพื่อมอบให้ผู้เข้าร่วมโครงการนำไปใช้เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน และปรับปรุงสภาพการทำงาน อันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการจัดการ การแปรรูป และการรีไซเคิลขยะพลาสติกในปริมาณที่มากขึ้นได้

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับวิกฤติมลพิษจากขยะพลาสติกทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2560 - 2562 พบว่าประเทศไทย  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  และเวียดนาม  มีปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลรวมกันประมาณ 2 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของปริมาณขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลต่อปีทั่วโลก 

เปิดโซลูชันรีไซเคิล - อัพไซเคิลในเอเชีย

ส่วนพลาสติกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำอาจถูกนำไปเผาหรือทิ้งในกองขยะ ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามที่อันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาวะด้านสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ส่องสถานการณ์ 'ขยะพลาสติก' ช่วงการระบาด 'โควิด-19'

โควิดหนุนธุรกิจส่งอาหารดันยอดใช้พลาสติกในญี่ปุ่น

ลดขยะพลาสติกแก้วิกฤติขยะพลาสติกทั่วโลก

10 อันดับประเทศ “ขยะพลาสติก” ในทะเลสูงสุด ประเทศไทยอยู่อันดับเท่าไรของโลก?

 

สร้างเครือข่าย หนุนเปิดโซลูชันลดขยะพลาสติก

The Incubation Network ส่งเสริมการทำงานของผู้ประกอบการท้องถิ่น และโซลูชันต่างๆ ที่ป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติก ก่อนหน้านี้เราดำเนินโครงการ Thailand Waste Management and Recycling Academy ที่เชื่อมสตาร์ตอัประยะเริ่มต้นกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และโครงการ Thailand SME Scale Up Program ที่ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจรีไซเคิล และอัพไซเคิลให้สามารถต่อยอดและขยายธุรกิจ

ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กร The Incubation Network กล่าว การสนับสนุนในกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะกลุ่มดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในประเทศไทย และในภูมิภาค

เปิดโซลูชันรีไซเคิล - อัพไซเคิลในเอเชีย

โครงการดังกล่าวนำโดย The Incubation Network ร่วมกับ the Global Plastic Action Partnership, UpLink by the World Economic Forum  และ Alliance to End Plastic Waste ซึ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคาร Bank Sampah Bersinar (อินโดนีเซีย) Envirotech (ฟิลิปปินส์) Kibumi (อินโดนีเซีย) Plastic People (เวียดนาม) และมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล (ประเทศไทย)

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 9 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยให้คำแนะนำ และทิศทางที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการเติบโต

 

พัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของขยะพลาสติก

   “โครงการที่ออกแบบมาเฉพาะนี้ได้แนะนำให้เรารู้จักกับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสนับสนุนความต้องการที่เฉพาะของเรา ผู้เชี่ยวชาญกับเราได้ทำงานเชื่อมโยงสอดคล้องกันเป็นอย่างดี ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ผ่านการได้รับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์การตลาดและแคมเปญของเรา” นายเจมส์ สกอทท์ กรรมการบริหารมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล (ประเทศไทย) กล่าว

ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร และการสนับสนุนมากมายตลอดโครงการ อาทิ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และโอกาสในการสร้างเครือข่ายพันธมิตร ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้เข้าร่วมการอบรมที่เน้นการจัดการขยะ และการรีไซเคิล และการตลาด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับขยายขนาดธุรกิจ และปรับกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พร้อมกับการนำเสนอผลการปฏิบัติงานต่อ Uplink, Global Plastic Action Partnership และ Alliance to End Plastic Waste ผ่านทางการประชุมแบบออนไลน์

โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดได้รายงานผลการเติบโต และการพัฒนา การนำเสนอผลงานที่ผ่านมายังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรอีกด้วย นับเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการทำงานร่วมกันในอนาคต

“เราสนับสนุนโครงการ Plastic Waste to Value Southeast Asia Challenge ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือสตาร์ตอัปอีก 358 รายในการขยายขนาดธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้จำนวนขยะพลาสติกลดลงไปแล้วเกือบ 148,000 เมตริกตัน” นายไซมอน บอลด์วิน หัวหน้าระดับโลกด้าน Circularity ของ  SecondMuse กล่าว

พร้อมทั้งเผยอีกว่า “SecondMuse มีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของขยะพลาสติก และส่งเสริมการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำต่อไป โดยมุ่งเน้นในการผลักดันความก้าวหน้า และนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น

เปิดโซลูชันรีไซเคิล - อัพไซเคิลในเอเชีย

ใช้นวัตกรรมลดมลพิษจากพลาสติก

นายพูนาม วาทีน ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบของ UpLink กล่าวว่า สำหรับวิธีแก้ปัญหาที่ใช้นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการลดมลพิษจากพลาสติก ผู้ริเริ่มในการแก้ไขปัญหาที่สร้างผลกระทบ และแรงบันดาลใจในวงกว้างคือ ประกายแห่งความหวังในการรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านขยะพลาสติกที่กำลังจะมาถึงผ่านนวัตกรรม

องค์กรพร้อมที่จะสนับสนุนสุดยอดนักประดิษฐ์ขยายผลกระทบผ่านการส่งเสริมให้องค์กรเป็นที่รู้จัก และได้รับความสนใจมากขึ้น ความเชี่ยวชาญ และโอกาสในการเรียนรู้ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้องผ่านแพลตฟอร์มของ UpLink

ดึงสตาร์ตอัปร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม จัดการขยะ

นายนิโคลาส โคเลซช์ รองประธานโครงการ Alliance to End Plastic Waste กล่าวว่า ทาง Alliance ได้สนับสนุนสตาร์ตอัปในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรขึ้นมา โดยได้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบจำนวนมากที่บุกเบิก และสร้างสรรค์นวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติกและการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่

"มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสตาร์ตอัปให้สามารถกำหนดรูปแบบการแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค และเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน การต่อยอดธุรกิจ และการขยายตัวต่อไป ทั้งนี้โครงการของ The Incubation Network เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสตาร์ตอัปเป็นจำนวนมาก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาค และสร้างแรงบันดาลใจให้เราขยายผลการทำงานต่อไป” นายนิโคลาส กล่าว

นายนาโน โมแรนท์ ผู้ก่อตั้ง Plastic People กล่าวว่า เงินทุนสนับสนุนที่ได้รับจากโครงการทำให้เราสามารถจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำหน้าที่วิเคราะห์ และประเมินการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ นำเสนอวิธีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของเรา ทั้งยังเอื้อให้เราสามารถจ้างบุคลากรมาดูแลแผนธุรกิจ และโครงการขยายตัวต่างๆ อีกด้วย

นอกจากนี้เรายังใช้เงินสนับสนุนดังกล่าวในการบำรุงรักษาเครื่องจักร และซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปลดล็อกปัญหาคอขวดต่างๆ ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อการขยายตัวของเราต่อไป

นางเฟย์ เฟปบรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bank Sampah Bersinar กล่าวว่า เงินสนับสนุนจากโครงการนี้จะนำไปลงทุนซื้อรถบรรทุกเพื่อเก็บขยะคันใหม่ โดยจะช่วยให้เราสามารถรวบรวมขยะจากพันธมิตรธนาคารขยะประจำหน่วยของเราได้มากขึ้น

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์