ผลวิจัยเตือน ! ไร้กฎหมายคุมมลพิษพลาสติก เสี่ยงขยะทะเลเพิ่ม 3 เท่า ภายใน 2583

ผลวิจัยเตือน ! ไร้กฎหมายคุมมลพิษพลาสติก เสี่ยงขยะทะเลเพิ่ม 3 เท่า ภายใน 2583

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงผลวิจัยจากสถาบันไฟฟ์ไจเรส (5 Gyres) ชี้ ขยะพลาสติกที่ทิ้งลงสู่มหาสมุทรทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2548 และอาจมากขึ้นเป็น 3 เท่า ภายในปี 2583 หากไม่ดำเนินการแก้ไขใด ๆ

ผลวิจัยที่ผ่านการทดสอบโดยไฟฟ์ไจเรส องค์กรที่สร้างแคมเปญลดมลพิษพลาสติกของสหรัฐ คาดการณ์ว่า อนุภาคพลาสติกจำนวน 171 ล้านล้านชิ้น ลอยอยู่ในมหาสมุทรตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่า มลพิษขยะทะเลอาจเพิ่มขึ้น 2.6 เท่า ภายในปี 2583 ถ้าไม่นำนโยบายที่มีผลทางกฎหมายระดับโลกมาใช้

ทั้งนี้ การวิจัยศึกษาจากข้อมูลมลพิษพลาสติกในระดับพื้นผิวจากเขตมหาสมุทร 11,700 เขต ในภูมิภาคทะเลที่สำคัญ 6 แห่ง ช่วงปี 2522-2562

"มาร์คัส อีริกเซ็น" ผู้ร่วมก่อตั้งไฟฟ์ไจเรส เผยว่า “เราค้นพบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของไมโครพลาสติกในมหาสมุทรอย่างน่ากังวล ตั้งแต่ยุคมิลเลนเนียล เราต้องมีสนธิสัญญาสากลแห่งสหประชาชาติ ที่มีผลทางกฎหมายเข้มงวดต่อมลพิษพลาสติก เพื่อยุติปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ”

ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อมหาสมุทร ไม่เพียงแค่ทำให้น้ำปนเปื้อน แต่ยังทำลายอวัยวะภายในร่างกายสัตว์ทะเล ที่เข้าใจผิดว่าพลาสติกเป็นอาหาร

ผลวิจัยเตือน ! ไร้กฎหมายคุมมลพิษพลาสติก เสี่ยงขยะทะเลเพิ่ม 3 เท่า ภายใน 2583

อย่างไรก็ดี องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เริ่มเจรจาหารือข้อตกลงขจัดปัญหามลพิษพลาสติกในอุรุกวัยเมื่อเดือน พ.ย. 65 ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อร่างสนธิสัญญาที่มีผลทางกฎหมายภายในสิ้นปี 2567

ด้านองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” กล่าวว่า การไร้สนธิสัญญาสากลที่เข้มงวด อาจทำให้มลพิษพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 10-15 ปีข้างหน้าและเพิ่มเป็นสามเท่าภายในปี 2593