ส่งออก“บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก”โต1000% ผู้บริโภคจ่ายได้แลกเงื่อนไข“ยั่งยืน”

ส่งออก“บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก”โต1000%    ผู้บริโภคจ่ายได้แลกเงื่อนไข“ยั่งยืน”

การค้าบนพื้นฐานความยั่งยืน ไม่ใช่แค่กระแสที่แรงในช่วงเวลาหนึ่งและค่อยๆจางหายไป แต่ความยั่งยืนคือโอกาสทางธุรกิจ พิสูจน์ได้จากสถานการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน หรือ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกปี 2565 ที่มีมูลค่า 252,400 ล้านดอลลาร์

โดยคาดว่าในช่วงปี 2566 ถึง 2573 น่าจะมีการขยายตัวที่ 5.8%  จากปัจจัยความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบรรจุภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน

เกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก กล่าวว่า  ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 สหรัฐ นำเข้าสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากกระดาษ (HS482369) จากทั่วโลก มูลค่า 505 ล้านดอลลาร์ โดยนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 11 มูลค่า 5.2 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกัน 1171.13% แม้ว่าแหล่งนำเข้าสำคัญจะมาจากจีน เป็นลำดับที่ 1 รองลงมาคือ ไต้หวัน และ แคนาดา ตามลำดับ 

“ ไทยมีข้อได้เปรียบจีนที่มีอัตราภาษีการนำเข้า 0%  ในขณะที่ จีนมีอัราภาษีการนำเข้า 25% แต่มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับจีน ที่สูงถึง 286 ล้านดอลลาร์ แสดงว่าไทยเรายังมีจุดอ่อนท่ามกลางโอกาสที่กำลังเติบโต” 

สำหรับข้อเสียเปรียบของไทยในสินค้าบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกนี้ คือ การเข้าถึงผู้ผลิตที่มีกำลังการผลิตในปริมาณมากยังเป็นไปโดยลำบาก อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตระดับกลางที่เข้ามาแข่งขันในตลาดสหรัฐ อาจจะยังไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ ที่มีกำลังการผลิตในระดับสูงจึงมีต้นทุนที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับไทย

ดังนั้น แนวทางจากนี้คือเร่งหาช่องทางเข้าถึงโอกาสซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบในแง่ การใช้ความต้องการผู้บริโภคเป็นตัวนำการเข้าถึงตลาดจากนั้น ก็ส่งเสริมให้ผู้นำเข้าสหรัฐเลือกแหล่งนำเข้าอื่นนอกเหนือจากจีน ขณะเดียวกันไทยก็ต้องพัฒนาการออกแบบที่แตกต่างจากคู่แข่งน่าจะทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบมากขึ้น

ส่งออก“บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก”โต1000%    ผู้บริโภคจ่ายได้แลกเงื่อนไข“ยั่งยืน”

สำหรับตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนในอเมริกาเหนือ (อเมริกาและแคนาดา) คาดว่าจะมีมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 โดยความตระหนักของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นและกฎระเบียบจากรัฐบาลน่าจะช่วยกระตุ้นให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนมีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด

จากข้อมูลของสำนักงาน the Environmental Protection Agency (EPA) ระบุว่าสหรัฐสร้างขยะที่มาจากบรรจุภัณฑ์มากถึง 80 ล้านเมตริกตัน/ปี ทำให้ธุรกิจจำนวนมากในสหรัฐจึงได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น McDonald's ได้วางแผนที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 100% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ช่วยสร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สีเขียวให้สามารถเข้ามาจำหน่ายและเติบโตในสหรัฐเพิ่มมากขึ้น

จากการรวบรวมข้อมูลตลาดบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนของบริษัท Transparency Market Research Inc พบว่า วัสดุกระดาษและกระดาษแข็งเป็นวัสดุหลักที่นิยมใช้ในตลาด โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจโลจิสติกส์และภาคการนำเข้า/การส่งออก 

“บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษและกระดาษแข็งเป็นที่นิยมในอย่างมากในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากมีราคาไม่แพง สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายทางชีวภาพได้ ตลอดจนมีราคาย่อมเยา น้ำหนักเบา มีความสามารถในการรองรับการพิมพ์ในคุณภาพสูง และวัสดุไม่ทำปฏิกิริยากับอาหารจึงสามารถรักษาความสดและรสชาติไว้ได้เป็นอย่างดี”

 อย่างไรก็ตาม ในอนาคตคาดว่าหากวัสดุกระดาษและกระดาษแข็งมีการพัฒนาคุณภาพให้มีความทนทานมากขึ้น ก็น่าจะสามารถรองรับความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้ เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์ กลุ่มธุรกิจ E-Commerce กลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มเคมี กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มการเกษตร และกลุ่มเครื่องสำอางและความงาม เป็นต้น

เกษสุรีย์ เล่าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยอ้างอิงจากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน จำนวน 1,000 คน ของ Business of Sustainability Index ระบุว่า 66% ของผู้บริโภคในสหรัฐทั้งหมด นิยมใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดย 80% เป็นกลุ่มผู้บริโภคอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (young generation) และมีความยินดีที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ยั่งยืน

    สำหรับช่องทางการเข้าถึงตลาดได้แก่  ผู้นำเข้าสินค้าบรรจุภัณฑ์ ,ฝ่ายจัดซื้อของธุรกิจบริการ Food Service,ตัวแทนฝ่ายจัดซื้อของซุปเปอร์มาร์เก็ต,ประมูลผ่านโครงการของรัฐ

ขณะที่เทรนด์บรรจุภัณฑ์ที่น่าจับตามองในปี 2566 เช่น การใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้และวัสดุมีน้ำหนักเบา การลดขนาดบรรจุภัณฑ์เพื่อลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองและช่วยลดการเน่าของเสียของสินค้า เพื่อให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด การออกแบบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ,บรรจุภัณฑ์ชีวภาพย่อยสลายได้ทางชีวภาพ,ฉลากแบบล้างออกได้ง่าย เป็นต้น

แม้สินค้าบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก จะเป็นเพียงสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐ เพียงรายการเดียวและมีสัดส่วนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับสินค้ารายการอื่นๆแต่จากอัตราเติบโตที่สูงขึ้นอย่างน่าจับตามองหากไทยพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ให้สอดคล้องกับดีมานด์ตลาดได้ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่จะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อไปได้