เส้นทางสู่การลดคาร์บอนโลก ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เส้นทางสู่การลดคาร์บอนโลก ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

องค์การการค้าโลก (WTO) ได้เรียกร้องในเวทีการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum :WEF)ที่เพิ่งผ่านพ้นไป โดยชี้ว่าทั่วโลกควรเร่งปฎิรูปการกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอน รวมไปถึงการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าและประเด็นด้านกฎระเบียบต่างๆ

ที่จำเป็นต่อกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งมีเป้าหมายลดคาร์บอนให้ได้ในปี 2030  

สำหรับเหตุผลประกอบการเรียกร้องดังกล่าว มีการหยิบยกปรากฎการณ์ที่ว่าหลายประเทศมีแนวโน้มกำหนดภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นโดยอ้างเหตุผลความปลอดภัยของสินค้านั้น ๆ แต่ขณะเดียวกันกลับลดกำแพงภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มปล่อยมลพิษ

 นโยบายการค้าของหลายประเทศโน้มเอียงไปในทาง ส่งเสริมสินค้าที่ก่อมลพิษ ซึ่งพบว่ามีการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ก่อคาร์บอน ทีี่มีมูลค่าถึง 500 -800 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และจำกัดเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้แค่ 3.6% ขณะที่การเพิ่มขึ้นของรายได้ทั่วโลกอยู่ที่ 0.65% ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนอคติของนโยบายการค้าที่ไม่ได้ส่งเสริมเป้าหมายการลดคาร์บอนเท่าที่ควร 

ปัจจุบันมีการกำหนดราคาคาร์บอนทั่วโลกอย่างน้อย 70 รายการ ซึ่งก็ยังพบว่าการกำหนดราคาดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนและอาจเป็นเงื่อนไขที่กระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขัน 

ทั้งนี้ WTO ได้ทำงานร่วมกับธนาคารโลก และ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือOECD(Organisation for Economic Co-operation and Development) รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีความคล่องตัวที่จะกำหนดราคาคาร์บอน ซึ่งWTOอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันกำหนดราคาคาร์บอนที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั่วโลก เพราะจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะสร้างความชัดเจนสำหรับภาคธุรกิจ และทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ สามารถคาดการณ์ได้ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ 

"ธุรกิจต่างมุ่งไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีสีเขียว แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่หลวงอย่างระเบียบราชการที่ปรับตัวอย่างเชื่องช้า ซึ่งไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ ดังนั้นเรากำลังอยู่กับความเสี่ยง  ยกตัวอย่างกรณี ผู้แทนธุรกิจขนส่งจากสวีเดน เล่าว่า ที่ Gothenberg port ได้พยายามใช้รถบรรทุก และ อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่มีพลังงานไฟฟ้าที่เพียงพอที่จะป้อนการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้การปฎิบัติงานไม่เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้" 

เช่นเดียวกับที่  ท่าเรือ แอนต์เวิร์ป ใน เบลเยี่ยม ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้เป็นท่าเรือแห่งแรกที่ใช้เรือลากจูงซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน แม้จะเพิ่งเริ่มไม่นานมานี้ แต่ก็พอมีประสบการณ์มาเล่าให้ฟัง ที่พบว่าการขออนุญาติเดินหน้าโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดและเป็นเหมือนฝันร้ายอย่างแท้จริงเพราะ โครงการต้องใช้เวลาถึง 8 ปีที่กว่าจะได้รับใบอนุญาตให้สร้างฐานผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม แผนมุ่งสู่การลดคาร์บอนปี 2030 จะยังเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางคำถามว่า ขั้นตอนตลอด 7 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ตอบสนองเป้าหมายการเร่งสู่การลดคาร์บอนเอาเสียเลย!   

จากบทเรียนความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานเพื่อเป้าหมายลดคาร์บอนนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็มีตัวอย่างดีดี อย่างที่ “ปานามา” ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนน้อยมากเพราะพลังงานกว่า 82% มาจากพลังงานทดแทน เมื่อปี 2565 หลังความพยายามด้านการลงทุน และการตัดระเบียบราชการที่ไม่จำเป็นออก ขณะเดียวกันก็ทำให้กระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ คล่องตัวขึ้น

 ด้านองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ก่อตั้งกองทุน LEAP ผ่านการระดมทุนมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยโครงการยานยนต์ไฟฟ้าในแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช่วยการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างก้าวกระโดด 

นอกจากนี้ยังมี ผลศึกษาของ ธนาคารโลก ที่ชี้ว่า มีการลงทุนด้านการขนส่งสาธารณะอย่างน้อย 2% ที่มุ่งสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่มากกว่า 60% ก็ยังคงเดินหน้าสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังใช้พลังงานฟอสซิล 

จากบทเรียนต่างๆที่เล่าสู่กันฟังนี้ ชี้ให้เห็นว่า เส้นทางสู่การลดคาร์บอนโลก ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ทุกฝ่ายก็ยังต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง