เส้นทางสู่ 2030  ปีแห่งเป้าหมายด้าน ESG

สวัสดีปีเถาะครับ ในจังหวะที่เราก้าวสู่ปีใหม่นี้ ถือเป็นการนับถอยหลังสู่ปี 2030 ซึ่งเป็นปีแห่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ตามที่สมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมกันกำหนดตั้งแต่ปี 2015

เพื่อให้การดำเนินงาน ESG ในแต่ละประเทศสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงข้อตกลงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ 

ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 และ 27 (COP26 และ COP27) ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อไม่นานมานี้ KPMG ได้คาดการณ์สถานการณ์ด้าน ESG ของปี 2030 ไว้อย่างน่าสนใจในรายงาน Looking Ahead: ESG 2030 Predictions ดังนี้ครับ

 ด้านสิ่งแวดล้อม: ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ และธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับการประเมิน และตีมูลค่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของผลตอบแทนจากการลงทุน และการให้ข้อมูลเพียงแค่ประเทศใดเป็นแหล่งผลิตสินค้าจะไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้บริโภคต้องการทราบมากกว่านั้นว่ากระบวนการผลิตสินค้าอาศัยพลังงานหมุนเวียน หรือมีการจัดการของเสียอย่างเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น

 ด้านสังคม: การแบ่งปันความรู้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์อันประกอบไปด้วยองค์กรธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหากำไร สถาบันการศึกษา และหน่วยงานรัฐ ร่วมมือกันแก้ปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อน อาทิ ความหลากหลายในที่ทำงาน ช่องว่างรายได้

ด้านการกำกับดูแล: จะมีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับ ESG มากขึ้น อาทิ ผู้จัดการโครงการ ESG โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญ และนักยุทธศาสตร์เฉพาะด้านคอยสนับสนุน

KPMG ชี้ว่าองค์กรที่ปรับตัวให้สอดคล้องกับ ESG ได้เร็วย่อมมีโอกาสชนะใจลูกค้า และเพิ่มมูลค่าได้เร็วกว่า โดยผลสำรวจ 57% ของผู้บริโภคตอบว่าจะหันไปใช้สินค้าบริการของผู้ให้บริการที่ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม อาทิ ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ละเว้นการใช้แรงงานเด็ก 

ในขณะเดียวกัน องค์กรที่ยังไม่มีนโยบายหรือการรับรองใดๆ ด้าน ESG หรือมีอันดับคะแนน ESG ที่ต่ำ อาจต้องเผชิญกับผลเสียด้านภาพลักษณ์ ชื่อเสียง หรือไม่สามารถจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจส่งผลลบมากยิ่งกว่าการยอมลงทุนปรับรูปแบบธุรกิจตั้งแต่ต้น เพราะหลักเกณฑ์ด้าน ESG บางอย่างที่เป็นภาคสมัครใจในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นภาคบังคับในภายหน้า อาทิ การรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า ซึ่งหลายประเทศจะเริ่มเก็บเป็นภาษีคาร์บอนในอนาคต 

ทั้งนี้ สหประชาชาติรายงานว่าปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลกประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์

ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอ และคาดว่าน่าจะต้องอัดฉีดงบเพิ่มถึง 5-7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี จึงจะบรรลุ SDGs ให้ทันปี 2030 แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินทุนคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในทุกมิติ

 

สำหรับประเทศไทยนั้น การขับเคลื่อน SDGs ภายในประเทศได้รับการยกระดับให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นด้วยการออกหลักเกณฑ์ด้าน ESG โดยในปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่เอกสารทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เป็นแนวทางสำหรับภาคเอกชนในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างราบรื่น และในอนาคตอันใกล้ เราจะมีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) สำหรับแต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงในการประเมินและดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อปฏิรูปกฎหมายไทยให้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบคาร์บอนต่ำ

แน่นอนว่าเราต้องรวมพลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 ต่อยอดไปสู่เป้าหมายระยะยาวในการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้ครับ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์