“WEF” ชี้ เป้าหมาย“เน็ต ซีโร่”เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเงิน - เศรษฐกิจโลก

“WEF” ชี้ เป้าหมาย“เน็ต ซีโร่”เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเงิน - เศรษฐกิจโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change กำลังเป็นจุดเริ่มต้น และอาจเป็นจุดสิ้นสุดของสถานการณ์ต่างๆ บนโลกนี้ รายงาน The Global Risks Report 2022 17th Edition จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF)

ในส่วนของประเด็นความล้มเหลวต่อปฏิบัติการสภาพอากาศ หรือ  “Climate Action Failure” เป็นหนึ่งในปัจจัยต่อความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบด้านต่างๆ ของโลก 

     ในด้านเศรษฐกิจความพยายามแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลในวงกว้างยกตัวอย่างการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ตำแหน่งงานราว 8.5 ล้านตำแหน่ง หรือเกือบ 30% จะหายไปพร้อมกับอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล และนิวเคลียร์ ในปี 2593 

รายงานยังระบุว่า ความพยายามลดคาร์บอน และการมีส่วนร่วมต่างๆ ด้วยการกำหนดเป้าหมายในระดับประเทศ อย่างเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ NDC (Nationally Determined Contribution) ซึ่งได้ข้อสรุปจากการประชุมภาคีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2564 (COP26) ที่กำหนดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกต้องต่ำกว่า 1.5°C   ตามความตกลงปารีสหรือ Paris Agreement เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) นั้น

"หากเราไม่ทำอะไรอุณหภูมิโลกจะร้อนไปถึง 2.4°C ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อโลก และผลกระทบต่างๆ จะรุนแรงมากขึ้น โดยโลกจะต้อง เผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นหากไม่สามารถ  บรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และการเพิกเฉยต่อปัญหาสภาพอากาศจะนำไปสู่การสูญเสียที่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 4% ถึง 18% ของ GDP โลก แต่จะมีผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค"

 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งอาจสร้างความเสียหายและการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจได้ในหลายมิติ และในระยะยาวด้วย

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการเปลี่ยนโลกให้มุ่งสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในระดับครัวเรือน รวมถึงเรื่องของการเงินและกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องจูงใจให้เกิดความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาClimate Change นี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการนำกลวิธีต่างๆ มาใช้ แต่ไม่ใช่เพื่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนแต่เพื่อการ “ฟอกเขียว”  

นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESGหรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนตามมาว่าด้วยการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ "การปรับโฉมภูมิทัศน์ทางการเงินและเศรษฐกิจ" โดยองค์กรจำนวนมากทั้งธนาคาร บริษัทประกัน และนักลงทุนสถาบัน กำลังขับเคลื่อนเงินทุนไปสู่เป้าหมาย Net Zero 

ส่วนกลไกทางการเงินที่เกิดขึ้นแล้ว อย่าง Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) มูลค่า  130 ล้านล้านดอลลาร์ และกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ที่กำหนดหน่วยงานกำกับดูแลของสหประชาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่นับเป็นตลาดการค้าใหม่ที่มี “คาร์บอน” เป็นสินค้า

 

 

 

สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)  กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีผลต่อเศรษฐกิจซึ่งหากมองเป็นภาพใหญ่มีทั้งผลดี และผลเสีย โดยผลเสียคือ ตอนนี้ทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะ Slow economy จากภาวะโลกร้อนที่เห็นผลกระทบหนักที่สุดคือ พายุหิมะที่สหรัฐ 

“ ส่วนผลกระทบในไทยนั้นจะเป็นภาคบริการและการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันเกิดการท่องเที่ยวกรีนมากยิ่งขึ้น โดยมี โครงการ ERC Sanbox 2 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เขียวมากขึ้น”

    ด้านการลงทุนตามหลักการ ESG แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1. ด้านการเงิน ปัจจุบันไทยได้ถูก DJSI (Dow Jones Sustainability Index) สนับสนุนให้ลงทุนกับบริษัทที่ใช้พลังงานสะอาดที่ใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม 

2.ด้านอุตสาหกรรม มีความกังวลว่าบริษัทต่างชาติที่มีฐานการผลิตในไทย มีความเป็นห่วง CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป 3.ด้านเศรษฐกิจในไทย การลงทุนด้าน ESG เมื่อก่อนเริ่มจาก CSR ซึ่งยังไม่มีผลกระทบมากนักเพราะยังเป็นแบบภาคสมัครใจอยู่ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นสัญญาณว่าเงื่อนไข และกติกาใหม่ของโลกกำลังเกิดขึ้นแล้ว การเปลี่ยนตัวเองก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงจะมาบังคับให้เราต้องเปลี่ยนไปน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์