Investment in Nature หัวใจ“สำคัญ”องค์กรธุรกิจทั่วโลก

Investment in Nature หัวใจ“สำคัญ”องค์กรธุรกิจทั่วโลก

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) เป็น 1 ใน 3 วิกฤตการณ์ของโลก ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องการแก้ปัญหาโดยอิงธรรมชาติอย่างเร่งด่วน 

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของโลกกว่าครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สถานการณ์ที่ธรรมชาติกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนในการฟื้นฟูจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 ดอลลาร์ หรือกล่าวได้ว่าการลงทุน เพื่อปกป้องฟื้นฟูธรรมชาติจะส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 เท่า

"กีต้า ซับบระวาล" (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทย(United Nations in Thailand) ระบุว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจทั่วโลกตระหนักถึง “ระบบนิเวศ” ซึ่งจัดเป็นต้นทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมถึงเป็นฐานทรัพยากรสำหรับเศรษฐกิจโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อความมั่นคงทางอาหารปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

10 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับที่มาและตลาดคาร์บอนเครดิต

พลิกวิกฤตผ่าน "เศรษฐกิจสีเขียว" เปิดตลาดคาร์บอนเครดิต ลดโลกร้อน

อบก. พัฒนา “ตลาดคาร์บอน” สร้างอีโคซิสเต็มสู่เป้า Net zero

กฎลดขยะประเทศต่างๆ สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

เปิดสถานการณ์ระบบนิเวศของโลก

ข้อมูลจาก WWF ระบุถึงสถานการณ์ระบบนิเวศของโลกว่าความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ลดลงถึง 68% ระหว่างปี 1970-2016 หรือลดลงกว่า 2 ใน 3 ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก อันอาจจะนำไปสู่วิกฤตทางอาหารได้ในที่สุด

ดังนั้น การรักษาและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจึงไม่ใช่ทำเพื่อสร้างเสริมภาพลักษณ์องค์กร หรือทำเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาธุรกิจ ที่ทุกองค์กรต้องร่วมมือช่วยกัน

ในประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เครือข่ายท้องถิ่นของโครงการสำคัญของสหประชาชาติ มีบทบาทสำคัญในการยกระดับความเป็นผู้นำของภาคเอกชนเพื่อการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การลงทุนอย่างรับผิดชอบ และการสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

แนวปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมและ SDGs

ปี 2564 สมาชิก GCNT ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero โดยแสดงความมุ่งมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070

ปัจจุบันได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว อย่างน้อย 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เปรียบเสมือนการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปกว่าหนึ่งล้านหกแสนคัน

ใน GCNT Forum 2022 สมาชิก GCNT ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเร่งมาตรการเพื่อลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปกป้องคุ้มครองพื้นที่บนบกและทะเล ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่ภายในปี 2030

“มีตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมและ SDGs ที่โลกเรียนรู้ได้จากประเทศไทย ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมที่มีความหมายของภาคีเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เยาวชน และกลุ่มที่เปราะบางที่สุด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางกีต้า กล่าวทิ้งท้าย