ไทยจับมือญี่ปุ่นพัฒนา 49 โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจก 2.62 แสนตันคาร์บอนต่อปี

ไทยจับมือญี่ปุ่นพัฒนา 49 โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจก 2.62 แสนตันคาร์บอนต่อปี

โครงการต้นแบบ JCM ที่ไทยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่นมีจำนวน 49 โครงการในไทย คิดเป็นมูลค่า 3,018 ล้านบาท และการลงทุนร่วมภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มากกว่า 9,806 ล้านบาท

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2565 ว่า ครม.รับทราบผลการดำเนินโครงการภายใต้กลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism : JCM) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่ประเทศญี่ปุ่นได้ริเริ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศที่มีความร่วมมือสามารถใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น
 
โครงการต้นแบบ JCM ที่ไทยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่นมีจำนวน 49 โครงการในไทย คิดเป็นมูลค่า 3,018 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทการผลิตพลังงานหมุนเวียน จำนวน 26 โครงการ รองลงมาเป็นโครงการประเภทการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 21 โครงการ และการผลิตพลังงานหมุนเวียนร่วมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 2 โครงการ คาดว่า จะก่อให้เกิดการลงทุนร่วมภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มากกว่า 9,806 ล้านบาท มีหน่วยงานผู้รับทุนเป็นบริษัทเอกชนไทย จำนวน 45 แห่ง  นอกจากนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 262,357 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
 

สำหรับโครงการต้นแบบ JCM ของไทยที่ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการร่วม JCM แล้ว มีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งถือเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกเครดิตร่วม JCM มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้เท่ากับ 58,096 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีโครงการที่ได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตแล้ว จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณคาร์บอนเครดิตเท่ากับ 4,032 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเป็นของฝ่ายไทย 2,015 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ฝ่ายญี่ปุ่น 2,017 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
 

โครงการต้นแบบ JCM ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ JCM ก็ต่อเมื่อ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากคณะรรมการร่วม JCM ซึ่งเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จะรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าโครงการจะลดได้ มีหน่วยเป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ส่วนปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่โครงการสามารถลดได้จริงจากการดำเนินงานเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยคณะกรรมการร่วม JCM เป็นผู้ให้การรับรองคาร์บอนเครดิต และสัดส่วนคาร์บอนเครดิตที่จะแบ่งปันกันระหว่างฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทย จะเป็นไปตามสัดส่วนของเงินสนับสนุนต่อเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการ