‘อัสตานากรีนซิตี้’ เมืองที่เป็นมิตรกับผู้คน

‘อัสตานากรีนซิตี้’   เมืองที่เป็นมิตรกับผู้คน

อัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถานได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความแตกต่าง ขณะนี้กำลังเดินหน้าสู่ความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนด้วยการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด ด้วยความร่วมมือของทางการท้องถิ่น ประชาชน และเป้าหมายของรัฐบาล

เมืองหลวงของคาซัคสถาน ครองความเป็นที่สุดในหลายๆ ด้าน อาทิ เป็นเมืองหลวงเหนือสุดของทวีปเอเชีย เป็นเมืองหลวงหนาวเย็นที่สุดเป็นอันดับสองของโลก  รองจากกรุงอูลานบาตอร์ของมองโกเลีย อุณหภูมิเฉลี่ยของอัสตานาอยู่ระหว่าง 40 องศาเซลเซียสในฤดูร้อนและ-40 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว 

สถาปัตยกรรมแบ่งอัสตานาออกเป็นสองส่วนอย่างเห็นได้ชัด ย่านเมืองเก่าที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของแม่น้ำเยสซิล (ฝั่งขวาของแม่น้ำ) ส่วนใหญ่เป็นย่านพักอาศัย มีร้านค้าและศูนย์บริการจำนวนหนึ่ง อาคารก่อสร้างมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ทางตอนใต้ (ฝั่งขวาของแม่น้ำ) เป็นย่านพัฒนาใหม่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นที่ตั้งของอาคารราชการ ที่ทำการธุรกิจ ศูนย์วัฒนธรรม กีฬา สันทนาการ ห้างสรรพสินค้าและโรงแรม อาคารสมัยใหม่สุดล้ำฝั่งนี้ก่อสร้างขึ้นหลังปี 2541

ข้อมูลจากยูเอ็นดีพีระบุว่า การก่อสร้างเมืองสมัยใหม่ดำเนินไปภายใต้แนวคิด “เมืองที่เป็นมิตรกับผู้คน” ประกอบด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษจากมนุษย์ซึี่งส่งผลเสียต่อสุขภาพเพราะสำหรับอัสตานาแล้วมลพิษเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ไม่อาจละเลยได้ เมื่ออากาศสกปรกลงทุกวันจากควันถ่านหินในฤดูหนาว แต่ทั้งเทศบาลและชาวเมืองช่วยกันแก้ไขปัญหาเริ่มต้นที่ครัวเรือน

การสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช้วิธีปรับอาคารเก่าและเครือข่ายให้ทันสมัย และบางกรณีต้องปรับอาคารสร้างใหม่ที่ละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย

ปัจจุบันเทศบาลอัสตานากำลังร่างแผนพัฒนาเมืองภายในปี 2578 ด้วยกิจกรรมหลากหลายทำให้เมืองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่กิจกรรมง่ายๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานอำนวยความสะดวกให้จักรยานและการปลูกต้นไม้ ไปจนถึงวิธีการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น ระบบให้ความร้อนในแต่ละย่าน หรือแม้แต่ทดลองขนส่งด้วยพลังงานไฮโดรเจน

พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

การบำรุงรักษา ฟื้นฟูและบูรณะอาคารเก่าถือเป็นมิติสำคัญในการพัฒนาอัสตานาอย่างยั่งยืน ปี 2561 มีโครงการนำร่องปรับปรุงTselinny ย่านพักอาศัยในเขตเมืองเก่าที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2507 ลักษณะพื้นที่เป็นตึกล้อมรอบด้วยสนามหญ้า

การปรับปรุงประกอบด้วยการติดตั้งฉนวนระหว่างรอยต่อกำแพง ฟื้นฟูท่อระบายน้ำและทางออก เปลี่ยนประตูทางเข้าและระเบียง ใช้หลอดไฟแอลอีดีบริเวณทางเดิน

เหนือสิ่งอื่นใดคือเปลี่ยนระบบความร้อนและท่อน้ำร้อนน้ำเย็นด้วยการเปลี่ยนท่อและติดตั้งจุดทำความร้อนอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม มาตรการประหยัดพลังงานทั้งหลายกว่าจะถึงคืนทุนต้องใช้เวลานาน ยูเอ็นดีพีในคาซัคสถานจึงพัฒนาและทดสอบมาตรการจูงใจทางการเงินที่หลากหลาย รวมถึงมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างหลักประกันว่าระบบความร้อนอันทันสมัยกระจายอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างเทศบาล ประชาชน และการลงทุนทั้งจากงบประมาณของเมืองและจากผู้อยู่อาศัยเองด้วย

คาซัคสถานพร้อมเป็นศูนย์กลางพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

ในภาพรวมของประเทศคาซัคสถาน เว็บไซต์ el.kz รายงานว่า ช่วงการประชุมผู้นำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (COP27) ที่อียิปต์ นายกรัฐมนตรีอาลีข่าน สไมลอฟ แถลงถึงแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 “ประเทศของเรากำหนดเป้าหมายใหญ่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ.2603 ด้วยการใช้กลยุทธ์พัฒนาคาร์บอนต่ำภายในสิ้นปีนี้ นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ เป็นประเทศแรกในเอเชียกลางที่มีเอกสารสำคัญระดับนี้”

ตามข้อมูลของนายกฯ ปัจจุบันคาซัคสถานผลิตพลังงานหมุนเวียนราว 3% ของผลผลิตพลังงานทั้งหมดของประเทศ และมีแผนเพิ่มเป็น 15% ภายในปี 2573 โดยเพิ่มอีก 7 กิกะวัตต์ภายในปีดังกล่าว ทั้งยังมีแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงอย่างน้อย 15% ภายในปีเดียวกัน

“คาซัคสถานมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางพลังงานสีเขียวแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นเราจึงพร้อมดำเนินการในฐานะศูนย์กลางภูมิภาคสำหรับการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนและเพื่อกระตุ้นให้เอเชียกลางเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสีเขียว” นายกฯ ย้ำ ในการนี้คาซัคสถานจะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการเพิ่มการผลิตและส่งออกไฮโดรเจนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้รัฐบาลคาซัคสถานกำลังดำเนินมาตรการกระตุ้นการลงทุนสีเขียว และพร้อมแล้วที่จะนำเสนอศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอัสตานาในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคที่ไม่เหมือนใครเพื่อการเงิน “สีเขียว”

“เรายังพยายามครั้งใหญ่ภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ และปฏิบัติตามเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในการปลูกต้นไม้ให้ได้ 2 พันล้านต้นภายในปี 2568” นายกรัฐมนตรีให้คำมั่น