ESG Score วัดความแกร่ง  บนถนนสู่ความยั่งยืน

หากจะกล่าวว่า ถนนทุกสายต่างมุ่งหน้าสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน คงจะไม่ผิดจากความจริงนัก ในปัจจุบัน ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ได้หันมาทบทวนเพื่อปรับทิศทางการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

(Environmental, Social and Governance: ESG) โดยหลายองค์กรมีความก้าวหน้ามากกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังอยู่ ณ จุดไหนของเส้นทางดังกล่าวเมื่อเทียบกับทั้งอุตสาหกรรม 

หนึ่งในกลไกสำคัญคือ บริษัทจัดอันดับเครดิต ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทโดยภาพรวมแล้ว ยังเป็นตัวกลางในการ “วัด” ความก้าวหน้าของบริษัทในด้าน ESG อีกด้วย โดยออกมาตรวัดที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ESG Score (บางแห่งเรียกว่า ESG Rating หรือ ESG Risk Rating) ซึ่งจะเป็นคะแนนที่บริษัทสามารถนำมาใช้เพื่อวัดระดับความก้าวหน้าองค์กรตนเอง รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์ผลงานในด้าน ESG แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายใน และภายนอกองค์กร 

คะแนนเหล่านี้ยังเป็นข้อมูลให้สถาบันการเงินใช้พิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของลูกหนี้ และนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้าน ESG ต่างๆ และสำหรับนักลงทุน ESG Score ช่วยให้เข้าใจ และจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ด้านการลงทุนได้เป็นอย่างดี

คะแนนเหล่านี้มีที่มาอย่างไร ผมจะขอยกตัวอย่าง ESG Score ของบริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เพื่อให้เห็นภาพ พอสังเขป มูดี้ส์แบ่งการให้คะแนนเป็นสองขั้น ขั้นแรกคือ Issuer Profile Score (IPS) เป็นการวัดระดับความเสี่ยงของบริษัทตามมิติด้านสิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และธรรมาภิบาล (G) โดยแต่ละมิติมีระดับคะแนนตั้งแต่ 1-5 โดยระดับ E-1, S-1 และ G-1 มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ขณะที่ E-5, S-5 และ E-5 มีความเสี่ยงมากที่สุด 

ทั้งนี้ สิ่งที่มูดี้ส์เลือกดูในแต่ละมิติมีดังนี้ 

ด้านสิ่งแวดล้อม (E) ครอบคลุมเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านคาร์บอน ความเสี่ยงกายภาพด้านสภาวะอากาศ การจัดการน้ำ ของเสีย และมลพิษ ทุนทางธรรมชาติ 

ด้านสังคม (S) ครอบคลุมเรื่องความสัมพันธ์ลูกค้า ทรัพยากรบุคคล แนวโน้มด้านประชากร และสังคม สุขภาพและความปลอดภัย การผลิตที่มีความรับผิดชอบ 

และด้านธรรมาภิบาล (G) ครอบคลุมกลยุทธ์ทางการเงิน และบริหารความเสี่ยง ความน่าเชื่อถือ และประสบการณ์ของผู้บริหาร โครงสร้างองค์กร การกำกับดูแลและการรายงาน โครงสร้างคณะกรรมการ นโยบายและระเบียบปฏิบัติ

ชุดคะแนนข้างต้นจะถูกนำมาประมวลผล (โดยไม่ใช่วิธีรวมคะแนนแบบตรงๆ) ร่วมกับปัจจัยด้านอื่นๆ ออกมาเป็นคะแนนในขั้นที่สองคือ Credit Impact Score (CIS) ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับเช่นกันจาก CIS-1 ถึง CIS-5 โดยคะแนน CIS นี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นคะแนนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอันดับเครดิต (Credit Rating) ของแต่ละบริษัท ซึ่งจะบ่งบอกว่าข้อดีหรือข้อด้อยด้าน ESG ของบริษัทนั้นๆ น่าจะส่งผลกระทบกับอันดับเครดิตในทางบวกหรือทางลบขนาดไหน โดย CIS-1 จะส่งผลทางบวกต่ออันดับเครดิตมากที่สุด ในขณะที่ CIS-5 จะส่งผลทางลบต่ออันดับเครดิตมากที่สุด ทั้งนี้ แต่ละบริษัทจะได้รับคะแนนในขั้นนี้เพียงระดับเดียว ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ที่สุดห้าแห่งได้รับคะแนนในขั้นที่สองที่ CIS-2 เท่ากันทุกแห่ง ซึ่งเท่ากับคะแนนของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ทั่วโลกที่มูดี้ส์ทำการประเมิน โดยในแต่ละธนาคารจะมีคะแนน IPS ที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด ทั้งนี้ ธรรมชาติของแต่ละอุตสาหกรรมมีผลกับระดับคะแนนเช่นกัน อาทิ บริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมัน และแก๊สจะมีคะแนน E ที่แย่กว่าอุตสาหกรรมอื่น เป็นต้น

การวัดผลงานด้านความยั่งยืนข้างต้นช่วยให้เราเข้าใจแต่ละบริษัทในแง่มุม ESG แบบชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีความหมายมากกว่าคะแนนที่ได้มาจากการวัดดังกล่าวคือ เป้าหมายที่แท้จริงในการร่วมเดินบนเส้นทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Citizen) นั่นเองครับ

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

ESG Score วัดความแกร่ง  บนถนนสู่ความยั่งยืน