"เทคโนโลยี เครื่องมือ ทักษะ" ปัจจัยที่ภาคธุรกิจขาดในการขับเคลื่อน ESG

"เทคโนโลยี เครื่องมือ ทักษะ" ปัจจัยที่ภาคธุรกิจขาดในการขับเคลื่อน ESG

"ESG" เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน

โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล  Environment เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงในด้านความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม Social เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสาร กับ ลูกจ้าง suppliers ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างไร 

ESG สร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มโอกาสธุรกิจ

Governance เป็นหลักการที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการบริการความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย

ทั้งนี้ แนวคิด ESG ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ESG ธีมการลงทุนโลกยุคใหม่ เปิดโอกาส 3 ตลาด เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

การส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้ยั่งยืน ด้วยปัจจัย ESG

‘รัฐ-เอกชน’ แห่ออกขาย ’ESG Bond ’ 9 เดือนยอดพุ่งแตะ1.56 แสนล้าน

ตลท.เปิดบริการ ESG Data Platform ครั้งแรกของตลาดทุนไทย เริ่ม ต.ค. นี้

 

ภาคธุรกิจตระหนักขับเคลื่อน  ESG

วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2565) ดีลอยท์ ประเทศไทยได้ทำการสำรวจ Thailand ESG and Sustainability Survey Report 2022 กับผู้บริหารระดับ C-suite และผู้บริหารในระดับต่างๆ จากบริษัทชั้นนำของประเทศไทย จำนวน 106 บริษัท ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมหลัก เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ และอื่นๆ ในระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565

โดยการสำรวจประเด็นด้าน ESG และความยั่งยืนของประเทศไทยในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนภาพธุรกิจและการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน

นายกษิติ เกตุสุริยงค์ Sustainability & Climate Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเด็นด้าน ESG หรือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล กลายเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจในทางธุรกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การประเมินความเสี่ยงและเปิดรับโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG ขององค์กร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ระยะยาวของธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

ผลการสำรวจของดีลอยท์ ประเทศไทย เผยให้เห็นความท้าทายหลายประการในการบูรณาการ ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง การประหยัดต้นทุน ไปจนถึงการหาตลาด และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

 

ภาคธุรกิจกว่า 70% มีการขับเคลื่อน ESG

โดยผลจากการสำรวจพบประเด็นสำคัญ 4 ประการ คือ

1.ESG ในองค์กร จากการสำรวจพบว่า ผู้นำส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสร้างการตระหนักรู้ด้าน ESG ในองค์กร และการบูรณาการ ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร

โดยผู้บริหารระดับสูง (C-Level) มีแนวโน้มที่จะเน้นการรายงาน ESG และภาคธุรกิจกว่า 70% มีการขับเคลื่อน ESG ให้สอดคล้องกับกรอบการรายงานของ ‘56-1 One Report’ ที่ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการเปิดเผยข้อมูล  โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจตามกรอบของ ESG

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 34 ให้ข้อมูลว่า บริษัทได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืนเพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนวาระ ESG ในองค์กรแล้ว และบางบริษัทได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบด้าน ESG ให้กับคณะกรรมการบริหาร เพื่อผลักดันประเด็นความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านนี้มากกว่าบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียน

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนมากเห็นว่า การดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ดีขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก 3 ประการ ได้แก่ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน  ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ และการบริหารความเสี่ยง

85%สายการเงินให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน

2.บทบาทของสายงานการเงินด้านความยั่งยืน จากการสำรวจพบว่า 

85% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในสายงานบัญชีและการเงิน เห็นตรงกันว่า ความยั่งยืนมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในด้านการเงิน

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานเกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอบการรายงานมาตรฐาน

19% มองว่าสายงานบัญชีและการเงินจะเป็นตัวขับเคลื่อนในการกำหนดและบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า สำหรับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนยังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนอย่างเต็มที่โดยบูรณาการเข้าไปในกระบวนการจัดการประสิทธิภาพองค์กร

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและทรัพยากร เป็นอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือสินเชื่อสีเขียวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมุ่งเน้นนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอีกด้วย ซึ่งอาจเป็นผลจาก Social License to Operate ผลักดันให้ดำเนินการ เนื่องจากการดำเนินการของกลุ่มนี้อาจก่อผลกระทบทางลบทางสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น

ขาดเทคโนโลยี ทักษะในการจัดการESG

3.การรายงานความยั่งยืน จากการสำรวจของดีลอยท์ พบว่า

51%ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ESG และมีตัวชี้วัดเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานตามรอบการจัดทำรายงาน

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าหนึ่งในสี่ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้าน ESG แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า

  • การขาดเทคโนโลยีสำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การขาดความสามารถและทักษะภายในองค์กร
  • การไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ เป็นข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานให้สมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดด้านความยั่งยืน

 องค์กรไม่มีเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูลESG

4.ระบบ กระบวนการ และข้อมูล เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลว่า องค์กรของตนไม่มีเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่จำเป็นเพียงพอต่อการดำเนินการตามข้อกำหนดใหม่ๆ ในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้แบบฟอร์ม spreadsheet ในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของทั้งองค์กร

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับบางบริษัทที่มีกระบวนการดำเนินการหลายขั้นตอน ที่อาจส่งต่อเพื่อรวบรวมไว้ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือมีกระบวนการรวบรวมข้อมูลการแยกจากกัน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะรวมข้อมูลจากหลายหน่วยงาน และอาจเกิดความผิดพลาดจากการทำงานของคนได้

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า บริษัทของผู้ตอบแบบสำรวจใช้กรอบการรายงานสากลที่พัฒนาโดย GRI (Global Reporting Initiative) เป็นมาตรฐานหลักในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG และใช้กรอบตัวชี้วัด ESG ภายในองค์กร (Internal ESG KPI) มากำหนดโครงสร้างรูปแบบหลักสำหรับการรวบรวมข้อมูลในองค์กร

แนะภาคธุรกิจบูรณาการ ESG ในเชิงกลยุทธ์

ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients and Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่ธุรกิจควรจะเริ่มบูรณาการ ESG ให้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ กำหนดเป้าหมายและกระบวนการความยั่งยืนขององค์กรเพื่อดำเนินการด้าน ESG และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่จะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับองค์กรธุรกิจในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การดำเนินการบนพื้นฐานของความยั่งยืนจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติต่างๆ และปรับตัวให้พร้อมรับกับดิสรัปชั่นในอนาคต”

ปัจจุบันนักลงทุนทั้ง นักลงทุนบุคคล (Individual Investor) และนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) ต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในการลงทุนแบบยั่งยืน หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดความยั่งยืน ESG

โดยการศึกษาจาก State Street Global Advisors ในปี 2560 ได้ทำการศึกษากับผู้ลงทุนสถาบันทั้งหมด 475 องค์กรในทวีป สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ เอเชียแปซิฟิก ซึ่งผลของการสำรวจพบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ 80 % มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และยังมีผลการศึกษาจาก Financial Planning Association ซึ่งเป็นการศึกษาในปี 2563

โดยได้ทำการสำรวจกับผู้ให้คำแนะนำทางการเงิน (Financial Advisor) จำนวน 242 ราย ในประเทศสหรัฐอเมริกาผลการศึกษาพบว่า ในปี 2563 ผู้แนะนำทางการเงินมีการแนะนำนักลงทุนหรือได้ลงทุนด้วยตัวเองในกองทุนแบบ ESG มากขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ผลการวิจัยจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผยว่า การลงทุนที่เน้นความยั่งยืนอาจนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งผลจากการทดลองจัด portfolio บริษัทจดทะเบียนไทยตามดัชนี DJSI ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า portfolio ดังกล่าว ให้ผลตอบแทนรวมสะสม 51% ซึ่งมากกว่าดัชนี SET100TRI ที่ใช้เปรียบเทียบอยู่ 13%