ESG ธีมการลงทุนโลกยุคใหม่ เปิดโอกาส 3 ตลาด เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ESG ธีมการลงทุนโลกยุคใหม่ เปิดโอกาส 3 ตลาด เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

พิมพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดมุมมอง ESG ธีมการลงทุนโลกยุคใหม่ เปิดโอกาส 3 ตลาด คือ ตลาดเงิน ตลาดทุน  และตลาดนักลงทุน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เมื่อกติกาโลกเปลี่ยนสู่ European Green Deal ภาคธุรกิจไทยต้องเรียนรู้

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในการอบรมหลักสูตร Wealth of Wisdom” หรือ “WOW” หลักสูตรเพื่อขุมทรัพย์แห่งปัญญาจัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และพันธมิตรภายใต้หัวข้อ “Sustainability Development” ว่า การก้าวเข้าสู่ "การเงินแบบยั่งยืน"เป็นการเปิดโอกาสให้กับภาคธุรกิจถึง 3 ด้าน คือ ตลาดเงิน ตลาดทุน  และตลาดนักลงทุน

ตลาดได้ต่างออกมาตั้งคำถามว่า "คุณทำ ESG หรือยัง?" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คุณเห็นความเสี่ยงด้าน ESG และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ หรือ climate action หรือยัง 

หากยังไม่เริ่มเข้าสู่นโยบายด้านความยั่งยืน จะเป็นการปิดโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้ เช่น การพิจารณาปล่อยกู้ หรือประกัน ที่มองว่าคุณไม่มีการพิจารณาความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

พิมพรรณ กล่าวว่า ในอนาคต ESG จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน จากในปัจจุบันนักลงทุนในต่างประเทศกำลังให้ความสนใจ และมองหาบริษัทที่ทำเรื่องเกี่ยวกับ "Low-carbon เทคโนโลยี“ เพื่อมุ่งสู่ ”เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ" ทุกคนต่างจับตามองว่าเมื่อไหร่เทคโนโลยีเหล่านี้จะมาถึง 

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เทคโนโลยีแสงอาทิตย์ หรือ“ โซลาร์เซลล์” มีราคาสูงมากแต่ราคาถูกลงในปัจจุบัน เพราะมีคนเข้ามาทำเยอะ ในทางเดียวกันตลาดอยากให้มีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับ “Low-carbon เทคโนโลยี” ออกมาสู่ตลาดมากขึ้น เพราะฉะนั้นตลาดทุนจึงมองหาการลงทุนประเภทนี้

กติกาโลกเปลี่ยน ภาคธุรกิจต้องเรียนรู้

จากในเดือนก.ค. 2021คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)จึงมีแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว และเกิดเป็น “European Green Deal” หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ในปี 2030 หรือ Fit for 55 Package ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองเรื่อง

การปรับปรุงสิทธิการซื้อขาย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน

การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจกและการออกมาตรการCBAM(Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปคือ การกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท  ป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป European Union (EU) 

โดยมาตรการ European Green Deal อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าส่งออกของไทยทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ EU ลดลง จึงเป็นความท้าทายที่ภาคเอกชนไทย และภาครัฐต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมการรับมือนโยบาย และมาตรการ “European Green Deal” ผลักดันวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส

บลจ.ไทยเดินหน้าเข้าสู่ “ความยั่งยืน”

รวมทั้งในประเทศไทยเอง เหล่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเปิดรับ และเข้ามาทำเรื่องนี้เยอะขึ้น  ขณะนี้มีกว่า 70 กองทุนที่เป็นผลิตภัณฑ์การลงทุน ESG ซึ่งมีมูลค่ารวมของสินทรัพย์เกือบ 60 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค.65) ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างแข็งแรงจะต้องมี “อีโคซิสเต็ม” ที่สมบูรณ์ ซึ่งเห็นว่านักลงทุนในตลาดต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และถือเป็นการลงทุนในระยะยาว 

ทำให้ตลาดกำลังเร่งพัฒนาและสร้าง ESG DATA Platform จากนักวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม และข้อมูลทางการเงินอย่างสะดวก เพื่อทำให้ทุกบริษัทมีข้อมูลในการเปรียบเทียบ เพื่อส่งมอบข้อมูลให้กับนักลงทุนในตลาดประกันการตัดสินใจในการลงทุน

โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำThailand Sustainability Investment (THSI) หรือรายชื่อหุ้นยั่งยืนตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนตามแนวทางของการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment)

สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเลือกลงทุนหุ้นต่างๆ แก่นักลงทุน ที่เป็นการการันตี และสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างดี เพราะนักลงทุนในตลาดเริ่มมีความตระหนัก และมองหาการลงทุนที่มีความยั่งยืนมากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์