‘รัฐ-เอกชน’ แห่ออกขาย ’ESG Bond ’ 9 เดือนยอดพุ่งแตะ1.56 แสนล้าน

‘รัฐ-เอกชน’ แห่ออกขาย ’ESG Bond ’ 9 เดือนยอดพุ่งแตะ1.56 แสนล้าน

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยยอดออกเสนอขาย“หุ้นกู้อีเอสจี” 9 เดือนปีนี้ พุ่ง 1.56 แสนล้าน เหตุ รัฐ-เอกชน รุกความยั่งยืน คาดอนาคตเติบโตต่อเนื่องจากเป็นอีกกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจของทุกบริษัท  ขณะที่ยอดคงค้างเฉียด 4.5 แสนล้าน จากสิ้นปีก่อนที่ 2.99 แสนล้าน

จากกระแสของการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, social and governance: ESG)  กำลังเป็นสิ่งที่บริษัทชั้นนำทั่วโลกให้ความสนใจมากในปีนี้และถูกนำมาบรรจุไว้ในกลยุทธ์การระดมทุนของทุกบริษัท 

เพื่อสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์(Net Zero emission) รวมถึงมุ่งเน้นในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG เพื่อแสดงความเป็นองค์กรที่ดีของสังคม (good corporate citizen )

‘รัฐ-เอกชน’ แห่ออกขาย ’ESG Bond ’ 9 เดือนยอดพุ่งแตะ1.56 แสนล้าน

นางสาวอริยา  ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA)  กล่าวว่า ภาพรวมตลาด ESG Bond ทั้ง Green bond, Social bond, Sustainability bond และ Sustainability-Linked Bond (SLB)  ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565  มีมูลค่าคงค้าง อยู่ที่ 447,730 ล้านบาท เติบโต 50% จากสิ้นปี 2564 มีมูลค่า 299,296 ล้านบาท  

โดยภาครัฐเป็นผู้ออกมีสัดส่วนถึง 63% และสัดส่วน 50% เป็นการออกเสนอขาย Green bond เพื่อรีไฟแนนซ์ในโครงการลงทุนรถไฟฟ้า และ  Sustainability bond  ในการสนับสนุน โครงการเยียวยาโควิด และโครงการลงทุนแหล่งน้ำ 

สำหรับงวด 9 เดือนแรก ปี 2565  พบว่า ESG Bond มีมูลค่าการออกรวมทั้งสิ้น 156,234 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนถึง  67% มาจากภาครัฐ มูลค่า 105,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น Sustainability bond  กระทรวงการคลังออก 90,000 ล้านบาท , Social bond ธนาคารออมสิน ออก10,000ล้านบาท และ  Green bond, เอ็กซิมแบงก์ มูลค่า  5,000 ล้านบาท 

ส่วนอีก 33 % เป็นภาคเอกชนออกเสนอขายมูลค่า  51,234 ล้านบาท  (ส่วนใหญ่เป็น  Green bond 9 บริษัท มูลค่า  34,334 ล้านบาท เช่น GPSC มูลค่า 12,000 ล้านบาท XPCL มูลค่า  8,395ล้านบาท ,TTB มูลค่า  3,589 ล้านบาท และออกSustainability-Linked Bond  1 บริษัท คือ BTSG มูลค่า 11,000 ล้านบาท ,  Sustainability bond 1 บริษัท คือ   BEM 4,500 ล้านบาท และ  Social bond 1บริษัท  มูลค่า 1,400 ล้านบาท ) 

นางสาวอริยา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการออกเสนอขาย ESG Bond จะเติบโตเพิ่มขึ้น ตามกระแส ESG เข้ามาอยู่ในกลยุทธ์ของการระดมทุนของทุกบริษัท รวมถึงภาครัฐในการดำเนินนโยบายต่างๆ ปัจจุบันความยั่งยืนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันในเดือนที่ผ่านมาจะพบว่า เม็ดเงินการลงทุนทั่วโลกเข้าสู่การลงทุน ESG เพิ่มขึ้นต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ตลาดผันผวนเช่นนี้ 

ดังนั้น สมาคมฯ ยังคงเดินหน้า ผลักดัน ESG Bond โดยการจัด ESG Training และสัมมนา  รวมถึงจะมีการจัดอันดับผู้จัดจำหน่ายและผู้ออกตราสาร ESG  สูงสุด 

นอกจากนี้จะจัดทำ Information Platform สำหรับตราสารเพื่อความยั่งยืน ทำให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG ของตราสารได้สะดวกขึ้น และยังทำให้ผู้ออกตราสารระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) กล่าวว่า แม้ตลาดจะยังมีความกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องใกล้เคียงระดับ 5% แต่บอนด์ยีลด์ของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า และไม่ผันผวนจนเกินไป เมื่อเทียบบอนด์ยีลด์สหรัฐ  ทั้งนี้สะท้อนว่าเรายังบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้ดี  ส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองบอนด์ไทยสัดส่วน 6-8% ยังถือว่ามีเสถียรภาพ ต่อตลาดการเงินและตลาดตราสารหนี้ไทย

อย่างไรก็ตามตลาดตราสารหนี้ไทย มีกลไกที่เปิดกว้าง ให้ผู้ต้องการระดมทุนที่มีคุณภาพเข้ามาลงทุนได้มากกว่าเงินลงทุนที่เข้าเร็วออกเร็ว (Hot  Money ) ปัจจุบันพบว่า กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาระดมทุน Green bond ของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น

โดยครึ่งแรกปีนี้ กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ มีสัดส่วนการถือครอง ESG Bond ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ 17.89% เป็นอันดับ 4 รองจากนักลงทุนกลุ่มบริษัทประกัน มีสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ที่ 25.56% รองลงมาอันดับ 2เป็นกลุ่มธนาคาร สัดส่วน 20.16% และ อันดับ 3 เป็นกองทุน กบข. สัดส่วน 18.84%