กสิกรไทยตั้งเป้าปล่อยกู้ธุรกิจ ESG หวังเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กสิกรไทยตั้งเป้าปล่อยกู้ธุรกิจ ESG หวังเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กสิกรไทยเดินหน้าสู่ธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าอัดฉีดเงินทุนเพื่อความยั่งยืน 2 แสนล้านในปี 73 โดยปีนี้จะปล่อยได้ 2.5 หมื่นล้านบาท และปล่อยสินเชื่อช่วยลูกค้ารายเล็กเข้าถึงทางการเงินได้ 1.9 ล้านรายภายในปี 68

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท คาดทั้งปีจะปล่อยได้ 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ธนาคารยังตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อดังกล่าวถึงสู่ 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2573

เขากล่าวว่า จากบริบทการดำเนินธุรกิจทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงมุ่งสู่วิถีแห่งความยั่งยืนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ผู้บริโภคนำประเด็นความยั่งยืนมาประกอบการตัดสินใจนักลงทุนใช้เกณฑ์ ESG ประกอบการพิจารณาลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศออกมาตรการด้าน ESG ที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะทําให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้ 

ดังนั้น กสิกรไทยจึงจะขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG โดยวางยุทธศาสตร์ที่จะนำพาลูกค้าและธุรกิจไทยเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มุ่งมั่นเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปรับการดำเนินงานของธนาคารและเสริมศักยภาพลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

พร้อมขับเคลื่อนสังคมช่วยลูกค้ารายเล็กให้เข้าถึงสินเชื่อ โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนก.ย.) ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายเล็กกว่า 5 แสนราย มูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านบาท เล็งขยายสินเชื่อรายเล็กให้ได้ 1.9 ล้านราย ภายในปี 2568

ขณะเดียวกัน ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าขนาดกลางขึ้นไป เข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยง ESG ครบ 100% แล้ว และพร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือทั้ง Ecosystem เพื่อให้ลูกค้า สังคม และประเทศ เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

ทั้งนี้ แผนงานและเป้าหมายในมิติต่างๆ ประกอบด้วย มิติสิ่งแวดล้อม มิติทางด้านสังคม และ มิติทางด้านธรรมาภิบาล โดยในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ธนาคารมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยปรับกระบวนการทำงานของธนาคารและทำให้พอร์ตสินเชื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“เราจะจัดลำดับกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อประเมินและจัดทำแผนกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารและเตรียมขยายการทำงานร่วมกับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ”

ด้านมิติสังคม ธนาคารกำหนดยุทธศาสตร์สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาการให้สินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาจากความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้ง ความรวดเร็วในการติดตามการชำระคืนหนี้และการฟื้นฟู การทำงานด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และประสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งมอบบริการสินเชื่อควบคู่การให้ความรู้ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของลูกค้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ณ เดือนก.ย.2565 ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายเล็กไปกว่า 5 แสนราย สินเชื่อกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อรายเล็กจำนวน 1.9 แสนรายในปี 2568 และให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้เข้าถึงลูกค้าได้ 10 ล้านราย ในปี 2566

ด้านมิติธรรมาภิบาล ธนาคารได้กำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% โดย ณ เดือนก.ย.2565 มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนนี้กว่า 3.4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ธนาคารทำงาน โดยนำหลักการ ESG เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการ พบว่า มีความท้าทายสำคัญในประเด็นการจัดการที่ต้องพิจารณาจากมิติที่หลากหลาย ดังนั้น หัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน คือ ต้องรักษาสมดุลการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง และต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ เพื่อพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง

“ที่เราบอกว่า เราอยากเป็นผู้นำ โดยวิธีคิดของผู้นำ คือ ไม่รอ ขอวิ่งแล้ว แต่เราไม่สามารถไปคนเดียวได้ ถ้าคนไม่วิ่งตามมา สมมติเราให้แคมเปญดอกเบี้ยดึงลูกค้าหรือจูงใจมาก และทำอยู่แบงก์เดียว แต่แบงก์อื่นไม่ทำ ก็ไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะเราต้องสร้างผลตอบแทนให้น่าสนใจ ฉะนั้น เราต้องแข็งแรงด้วย”