อีโคซิสเต็ม - สินเชื่อสีเขียว หนุนโรดแมปพลังงานสะอาด

อีโคซิสเต็ม - สินเชื่อสีเขียว หนุนโรดแมปพลังงานสะอาด

“พลังงาน” เร่งสร้างอีโคซิสเต็มสีเขียว ลดพึ่งนำเข้า สู่เป้า “เน็ตซีโร่” สผ.กางโรดแมป ดันไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน อบก.เดินหน้าตลาดคาร์บอน ดึงท้องถิ่น 76 จังหวัด ร่วมประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด ตั้งเป้าไปสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ระดับจังหวัด

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป จัดสัมมนาหัวข้อ “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” โดยมีภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมนำเสนอโรดแมปของเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2565

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของวิกฤติพลังงาน โดยนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศถึง 92% ราคาจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าถึง 70% จากเดิมประเทศไทยสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูก แต่มีการนำมาใช้นานถึง 30-40 ปี ส่งผลให้ปริมาณก๊าซในประเทศลดลง ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนในประเทศไทยขณะนี้เหลือ 32% นำเข้า 38% ส่งผลให้ต้นทุนสูง

“แม้ว่าก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานสะอาด แต่ก็ยังถือว่าเป็นฟอสซิล จากนโยบายปัจจุบันจะต้องลดการพึ่งพาฟอสซิลในปี 2050 ซึ่ง10 ประเทศอาเซียน ได้กำหนดนโยบายลดคาร์บอนลง แต่ด้วยความเป็นห่วงว่าจะยังคงต้องใช้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินต่อ จะส่งผลให้เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 40% ในปี 2030 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 ไปไม่ถึงเป้าหมาย ดังนั้น อีกวิธีสำคัญคือ การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น”

 

 

นายกุลิศ กล่าวว่า หากไทยไม่ทำอะไรเลย และการใช้พลังงานหมุนเวียนปัจจุบันยังน้อยแค่ 23-24% ในขณะที่หลายประเทศออกนโยบายพลังงานสีเขียว เช่น ญี่ปุ่นที่มีทั้งนโยบายไฮโดรเจน และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ยังต้องเริ่มต้น R&D ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินถึง 2 ล้านล้านเยน ในการปรับปรุงระบบในระยะแรก ส่วนระยะที่ 3 จะให้เอกชนดำเนินการเองเต็มรูป ส่วนยุโรปให้เงิน 8.5 หมื่นล้านยูโร เพื่อปรับระบบโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่ภาคขนส่งสีเขียว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย จึงได้มีการปรับกรอบแผนพลังงานชาติ 2022 โดยจะแล้วเสร็จปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ซึ่งกรอบหลักเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 50% การปรับพลังงานขนส่งเป็นสีเขียว และมาตรการสนับสนุนการใช้รถอีวี โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มาดำเนินการในเรื่องของการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายซื้ออีวีลงคันละ 2 แสนบาท เพื่อให้ราคารถอีวีมีราคาเทียบเท่ารถสันดาป 

สผ.กางโรดแมปลดคาร์บอน

นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวในหัวข้อ Carbon Neutral Roadmap ว่า สผ.ในฐานะของผู้กำหนดทิศทางนำเสนอให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยดูในเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกด้าน และมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดูในภาพใหญ่ของสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ขณะที่ความก้าวหน้าอื่นในการแก้ปัญหาต้องวางแผนระยะยาว ทั้งการปรับตัว และการลด ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยี CCS และ CCUS หรือ ไฮโดรเจน ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรง แต่ประเด็นตรงนี้คือ ความยาก จะต้องดูทั้งมิติความคุ้มค่า และมิติด้านเวลาที่จะนำเข้าเทคโนโลยี ให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งมีการวางโรดแมปไว้ทั้งหมด เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 คือ 74% ของการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียน และยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และเดินหน้า Net zero ในปี 2065

“ทั้งนี้ การนำเข้าเทคโนโลยีในระยะแรก อาจจะเน้นในเรื่องของการประยุกต์ก่อน เพราะความคุ้มค่าอาจจะไม่คุ้ม ต้องปรับตัวเราเอง เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากสีเขียวเบอร์ 5 เป็นต้น แต่ต้องยอมรับว่าหากเราจะมีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 หรือการเป็น Net zero ในปี 2065 การปรับตัวอย่างเดียวไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับภาคดูดซับ”

ห่วงภาคเกษตรปล่อยคาร์บอนสูง

สำหรับภาคที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 4 ภาค ได้แก่ พลังงานและขนส่ง อุตสาหกรรม ขยะน้ำเสีย และเกษตร โดยภาคพลังงานปลดปล่อยมากที่สุด และภาคที่น่าห่วงที่สุดคือ ภาคการเกษตร เพราะเกี่ยวพันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นภาคที่ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก

“ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% ของโลก แต่ได้รับผลกระทบอันดับ 9 ของโลก ขณะที่ เมียนมาอันดับ 2 และฟิลิปปินส์ อันดับ 4 ของโลก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราประสบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติทั้งหลายมาจากรอบข้าง และตัวเราเอง น่ากลัว และรุนแรงกว่าที่คิด เป็นภัยเงียบที่คืบคลานเข้ามา แต่เราอาจจะไม่กระทบมากนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่ลูกหลานเราในอนาคตจะได้รับ”

ตั้งกรมเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ทั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนจาก “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” มาเป็น “กรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อรับผิดชอบงานส่วนนี้โดยตรง เตรียมการรองรับ Carbon Price, Carbon credit และ Carbon market ในการทำระยะยาว เราพิจารณาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ ปรับตัว การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ต้นทุน เวลาแต่ด้วยความเป็นจริง พื้นที่ปลูกป่า พื้นที่สีเขียว ทำให้เต็มที่ก็ได้แค่ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ขณะที่ในปี 2030 เราคาดว่าจะปล่อย 555 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แม้ปรับตัวอย่างไร แต่การบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ค่อนข้างยาก เป็นเหตุผลว่าเราอาจจะใช้เทคโนโลยีราคาแพงเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน สุดท้ายอาจจะเป็นไฮโดรเจน CCS หรือ CCUS เข้ามาช่วย”

ขณะที่แผนระยะยาวคือ การสร้างป่า สร้างการมีส่วนร่วม ตอนนี้ได้เตรียมการ 4 ด้าน คือ 1.นโยบาย กฎหมาย ที่มีแนวทางการทำงานชัดเจน 2.เทคโนโลยีซัพพอร์ต มีตัวเร่งในเรื่องคาร์บอนเครดิต ตัวดูดซับในภาคการป่า 

3.การเงิน เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมสินเชื่อสีเขียว 4.การมีส่วนร่วม โดยมี Thailand Climate Action Conference (TCAC) พยายามให้จัดทุกปี ซึ่งมีหน่วยงานเอกชน ภาครัฐ เยาวชน ได้นำเสนอ สื่อสารกันชัดเจนว่าทุกคนตระหนักรู้และพร้อมจะก้าวไปกับเรา 

“ดังนั้น ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย เชื่อว่าหาก 4 เรื่องนี้ครบ น่าจะบรรลุเป้าหมายได้”

ปล่อยคาร์บอนพีคปี 2025

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า มีการประเมินว่า การปล่อยคาร์บอนจะไปสู่จุดสูงสุดในปี 2025 และจะค่อยๆ ลดลงหากมาตรการต่างๆ สัมฤทธิผล จน 2050 การปล่อยจะสมดุลกับการเก็บ ซึ่งอาจจะต้องมีตัวช่วยคือ เทคโนโลยี ที่ทำให้การปล่อยถูกจำกัดลงด้วยระบบ CCS หรือระบบ CCUS

เกียรติชาย กล่าวว่า ภาคที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ ภาคพลังงานไฟฟ้า หากจะทำให้สำเร็จจะต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% และในภาคการขนส่งต้องเอา EV เข้ามา 70% รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เศรษฐกิจหมนุเวียน จะต้องเข้ามาแน่ ด้วยทำทั้งหมดแล้วอาจจะไม่รอด ต้องมี CCS และ CCUS ด้วย

รวมถึงต้องมีมาตรการ เช่น ในต่างประเทศ มี Carbon Pricing Instrument ผู้ปล่อยต้องจ่ายหรือรับผิดชอบกับการปล่อยของตนเอง โดยประเทศไทยยังไม่มีเรื่องนี้โดยตรง แต่อยู่ระหว่างทำ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกรมใหม่เข้ามารองรับ และหลังจากนี้จะมีเรื่องของหลักการเข้ามา ซึ่งสอดคล้องกับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบัน มีภาษีคาร์บอนในหลายประเทศ

ภาษีคาร์บอนหนุน“เน็ตซีโร่”

สำหรับไทยจะมีหน่วยงานดูแล “ภาษีคาร์บอน” จะมีหน่วยงานของแต่ละประเทศกำกับ เช่น อียู ประกาศตัวเป็น Net zero ในปี 2050 โดยกำหนดธุรกิจบางธุรกิจ เช่น ไฟฟ้า กำหนดอัตราการปล่อยคาร์บอนไว้ว่าแต่ละธุรกิจจะปล่อยเท่าไร หากปล่อยเกินจะถูกค่าปรับ 100-150 ยูโร และลดอัตราการให้ปล่อยลงเรื่อยๆ และอนุญาตให้คนที่ปล่อยน้อยแลกเปลี่ยนกันได้ และหลายประเทศออกเป็นกฎหมาย ในหลายรัฐในสหรัฐ ก็ออกกำหนดแบบนี้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ Carbon Tax เช่น ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินจะเจอภาษีต่อตัน คนที่ปล่อยเยอะก็จ่ายเยอะ คนที่ไม่ปล่อยก็จะไม่เก็บ ด้วยระบบแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ไทยยังไม่มี จึงเกิด CBAM ซึ่งอียูมองว่าไม่แฟร์ที่ประเทศอื่นไม่มีการกำหนดนโยบาย Carbon Pricing จะส่งสินค้ามาขายในประเทศ ในขณะที่ภายในประเทศต้องจ่าย ดังนั้น ระบบ CBAM จึงจะเริ่มในปีหน้า มาตรการแบบนี้บังคับเราทางอ้อม ขณะเดียวกัน อียูยังมีการกำหนดการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วยว่าสินค้าแต่ละชิ้นมีการปล่อยเท่าไร และเริ่มมีการกำหนดว่าหากเป็นสินค้าที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงจะไม่ซื้อ

“เพราะฉะนั้น มาตรการทางการค้ามาแล้ว ขณะที่มาตรการทางการเงินออกมาด้วยจากการประชุม COP เขาบอกว่าเป้าหมาย Net zero ระดับประเทศบังคับให้ระดับองค์กรต้องปรับตัว โดยองค์กรต้องกำหนดเป้าหมายเช่นกัน และถ้าไม่กำหนดเป้าหมายจะเจอปัญหาทั้งเรื่องลูกค้า การเข้าถึงเงินทุน หากไม่มีการลดก๊าซเรือนกระจกถือว่าธุรกิจไม่ปลอดภัย และมีความเสี่ยง ก็จะให้ดอกเบี้ยแพงหรือไม่ให้กู้

สำหรับคาร์บอนเครดิตจะเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญให้ประเทศเปลี่ยนผ่าน โดยใช้หลักของการส่งเสริมให้คนที่ทำโครงการดีๆ โดยเป็นแนวการส่งเสริมที่ อบก.อยากให้เกิด โดยพยายามทำมาตรฐานการวัด และให้ทุกคนวัดว่าตนเอง Net zero หรือไม่ หากไม่ใช่ก็ซื้อเครดิต และพยายามอย่าปล่อย หากปล่อยจะต้องจ่ายบางอย่าง เอากลไกด้านเศรษฐศาสตร์มาช่วย ให้ทุกคนขับเคลื่อนไปสู่การทำโปรเจกต์ดีๆ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์