ไฮโดรเจน-กักเก็บคาร์บอน กุญแจบรรลุเป้าหมาย“เน็ตซีโร่”

ไฮโดรเจน-กักเก็บคาร์บอน กุญแจบรรลุเป้าหมาย“เน็ตซีโร่”

กลุ่มบางจากจัดสัมมนาประจำปีครั้งที่ 12 “Energy Security and Carbon Sequestration” เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2565 โดยมีภาคธุรกิจจากต่างประเทศร่วมนำเสนอทิศทางเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ

โมจี คาริมี ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท Cemvita Factory กล่าวในหัวข้อ “Gold Hydrogen: Key to Net Zero Economy” ว่า การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอยู่บนพื้นฐานสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.กระบวนการสกัดทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่ลดการเกิดคาร์บอนฟุตปริ้นส์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.กระบวนการผลิตปิโตรเคมีและเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเชื่อว่าไฮโดรเจนสีทองจะเป็นหนึ่งในโซลูชันที่ตอบโจทย์ข้างต้น

 

สำหรับนิยามของไฮโดรเจนสีทองเป็นการผลิตไฮโดรเจนด้วยเทคโนโลยีทางชีวภาพ ผ่านการใช้จุลินทรีย์ใต้ผิวดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในบ่อน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่ว่างเปล่าและถูกทิ้งร้าง โดยนักวิทยาศาสตร์ของ Cemvita พบว่าจุลินทรีย์ใต้ผิวดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติใช้คาร์บอนที่มีอยู่ในเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และปล่อยไฮโดรเจนได้ 20-50 ตันต่อพื้นที่ โดยจากการทดลองในห้องปฏิบัติการได้เพิ่มประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ขึ้น 6 เท่าครึ่งของอัตราที่จําเป็นในการผลิตไฮโดรเจนที่ 1 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นการผลิตไฮโดรเจนที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้การผลิตไฮโดรเจนโดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังน้ำ โดยจากการศึกษาล่าสุด ขนาดตลาดไฮโดรเจนสีเขียวทั่วโลกมีมูลค่า 0.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 เติบโตที่ CAGR 54.7% จากปี 2021 ถึง 2028 และคาดว่าจะสูงถึง 9.8 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 ไฮโดรเจน-กักเก็บคาร์บอน กุญแจบรรลุเป้าหมาย“เน็ตซีโร่”

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวนั้นใช้พลังงานมากและมีราคาแพง ตามรายงานจาก S&P Global Commodity Insights ต้นทุนของไฮโดรเจนอิเล็กโทรไลต์จากพลังงานหมุนเวียนพุ่งสูงถึง 16.80 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม

สำหรับแผนการลงทุนระยะต่อไป Cemvita จะใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมของอุตสาหกรรมบ่อน้ำมันและก๊าซที่หมดลงหลายพันบ่อเพื่อผลิตไฮโดรเจนราคาถูก สะอาด และปราศจากคาร์บอน และเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

ไฮโดรเจน-กักเก็บคาร์บอน กุญแจบรรลุเป้าหมาย“เน็ตซีโร่” โรเบิร์ต โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนว่า ทุกวันนี้ ความต้องการใช้พลังงานไม่มีทางลดลง ประชากรโลกเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้ต้องมองหาแนวทางการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทางเชฟรอนได้สำรวจแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้มากถึง 10% โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือคาร์บอนเป็นศูนย์ มองหาแหล่งหมุนเวียนที่เชื่อถือได้ และปล่อยคาร์บอนต่ำ

เชฟรอนได้ค้นพบเทคโนโลยี Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ในการดักจับ ใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อทำควบคู่กับการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะเราเชื่อว่า ไม่มีวิธีการอย่างเดียวที่ได้ผลทั้งหมด

สำหรับการกักเก็บคาร์บอนจะเป็นกุญแจสำหรับที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลได้ชัด และเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยสำคัญเชื่อมต่อโอกาสกับการค้นพบแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน ถ้ารัฐมีนโยบายที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนทั้งระบบ เชื่อว่า การลดปล่อยคาร์บอนก็จะมีประสิทธิภาพ

“CCUS เป็นเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน กักเก็บคาร์บอน และอัดคาร์บอน เป็นก้อนฝั่งไว้ในชั้นใต้ดินที่รอบรับได้หลายล้านตัน นี่จะเป็นโซลูชันในรุ่นเรา เชื่อว่าคนรุ่นต่อไปก็จะพัฒนาเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้นอีกในอนาคต” โดบริค

“เชฟรอน ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS ลงใต้ดินเพื่อคืนสู่ธรรมชาติ นี่จะเป็นกุญแจสำคัญของบริษัท นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในปี 2030” นายโดบิค กล่าว

อนิรุทธ์ ชามา ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัทคาร์บอนคลีนโซลูชัน และสตาร์ตอัปชั้นนำของสหราชอาณาจักร กล่าวในหัวข้อ Innovating CO2 Recovery Technology ว่า ความท้าทายในปัจจุบันคือ การดักจับคาร์บอนที่มีอยู่มหาศาล เราต้องการเทคโนโลยี แต่ตอนนี้ราคายังแพงอยู่ ขณะที่เราต้องการดักจับคาร์บอนให้ได้ 5,000 ล้านตันภายในปี ค.ศ.2050 ที่จะทำให้อุณหภูมิโลกไม่สูงเพิ่มขึ้น 1.5 องศา ตามความตกลงปารีส

ขณะนี้บริษัทคาร์บอนคลีน 49 แห่งทั่วโลกดำเนินงานอยู่ในอินเดีย บราซิล และหลายประเทศในยุโรปอย่างอังกฤษ และสเปนดักจับคาร์บอนแล้ว 1,000 ล้านตัน และมีเป้าหมายดักจับคาร์บอนให้ได้อีก 1,000 ล้านตันใน ค.ศ.2030

กระบวนการดักจับคาร์บอนมีมานานแล้วตั้งแต่ ค.ศ.2009 ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆจะมีการพัฒนาวิธีการดักจับคาร์บอนที่มุ่งลดค่าใช้จ่ายอาทิ สารละลายคาร์บอนที่ช่วยลดลง 20 เท่าและลดการใช้พลังงานลดลงถึง 30%

“เทคโนโลยี CycloneCC ของบริษัทคาร์บอนคลีน เป็นโซลูชันดักจับคาร์บอนดีกว่าแบบเดิมถึงสิบเท่า และจะช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจได้มากถึง 50% โดยเทคโนฯนี้จะสนับสนุนเป้าหมายเราในการดักจับคาร์บอนให้ได้ 5,000 ล้านต้นในปี2050” อนิรุทธ์กล่าว

ไฮโดรเจน-กักเก็บคาร์บอน กุญแจบรรลุเป้าหมาย“เน็ตซีโร่” ฟลอร่า จี่ ชิง รองประธานฝ่าย Nature-Based Solutions ของบริษัทเชลล์ กล่าวในหัวข้อ “Nature-Based Solutions: Shell” ว่า การปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการพลังงานให้ตอบโจทย์กับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมมีความจำเป็นต้องให้ประชาชนร่วมรับมือกับความท้าทายด้วยกัน ซึ่งบริษัทเชลล์กำหนดเป้าหมายเน็ตซีโร่ในปี 2050 ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยการดำเนินงาน 85%ของบริษัทได้คำนึงถึงการปรับสัดส่วนการใช้พลังงานที่มุ่งพลังงานสะอาดมากขึ้น เช่นพลังงานน้ำ แสงอาทิตย์ และลม

เชลล์ต้องการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมน้ำมันให้ได้ 1 ล้านตันเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ ค.ศ.2030 รวมถึงลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติให้น้อยลงด้วย

ถ้าพูดถึงการดำเนินงานในเอเชีย อย่างในประเทศจีนได้มีโครงการ “ClimateBreathe” ทำงานร่วมกับประชาชนและชุมชนเพื่อปลูกต้นไม้คืนลมหายใจให้ผืนป่า เช่นเดียวกับที่ฟิลิปปินส์ได้รณรงค์ปลูกป่ารวมกัน 6,250 ไร่ ขณะที่ออสเตรเลียได้ทำงานร่วมกับชาวสวน ในการใช้เทคโนโลยี Nature-Based Solutions หรือ NBS เพื่อดักจับคาร์บอนแล้วนำไปฝั่งเก็บใต้ดินรวมกันมากกว่า 60,000 ไร่

“เหตุใดต้องทำงานร่วมกับธรรมชาติ Shell ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยี Nature-Based Solutions หรือ NBS ในผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า ช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 30% ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของความตกลงปารีส ในปี 2030” นางชิงกล่าว

ไฮโดรเจน-กักเก็บคาร์บอน กุญแจบรรลุเป้าหมาย“เน็ตซีโร่”

“อาเซียน” ศูนย์กลางเปลี่ยนผ่านพลังงาน

โรแบรโต้ บาคคา ประธานด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตและกรรมการบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) กล่าวในหัวข้อ “Global Energy Outlook and Energy Transition” ว่า มี 3 ประเด็นสำคัญที่ WEF ต้องการแบ่งปัน ประกอบด้วย 1.มุมมองระบบพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในปัจจุบัน 2.สามเหลี่ยมพลังงาน 3. บริบทด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับประเด็นแรก การทำความเข้าใจในระบบพลังงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนประกอบคือ อุปทาน การส่ง และอุปสงค์ โดยส่วนสำคัญที่ใช้สำหรับการวางแผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน คือ “อุปสงค์” ซึ่งต้องคาดการณ์ว่าในอนาคตความต้องการพลังงานจะมาจากกลุ่มไหนเป็นหลัก

ทั้งนี้ รายงานของ WEF ระบุว่า ความต้องการพลังงานในอนาคตจะมาจากการใช้ชีวิตในเมือง กระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

“ในปัจจุบันและทิศทางอนาคตของระบบพลังงานทั่วโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้มีความต้องการพลังงานที่จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานต้องการปัจจัยสนับสนุน ประกอบด้วย การพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนการวางแผนการเงิน การค้นคว้าวิจัยด้านวัตถุดิบและทรัพยากร การปฏิวัติโมเดลธุรกิจเพื่อการเติบโตทางกำไรในบริบทการทำธุรกิจใหม่

และสุดท้ายที่จะเป็นกลไกหลัก คือ การสร้างโมเดลความร่วมมือใหม่ในทุกระดับและทุกภาคส่วน ตั้งแต่บริษัท ภาคอุตสาหกรรม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาครัฐและความร่วมมือในระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

ประเด็นที่สอง คอนเซปต์สามเหลี่ยมพลังงาน สะท้อนคุณลักษณะการใช้ประโยชน์จากพลังงาน ได้แก่ การสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการใช้พลังงานยั่งยืน ซึ่งต้องให้นำหนักทั้งสามมิติ

ประเด็นสุดท้าย บริบททางสังคมในปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับการปรับสมดุลของมหาอำนาจในโลก ซึ่งกระทบการปรับเปลี่ยนสมดุลพลังงาน อีกทั้งสถานการร์ดังกล่าวยังนำไปสู่ “วิกฤติพลังงาน” 

ทั้งนี้ จากรายงานดัชนีการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกโดย WEF เผยว่า ภายในปี 2030 ต้องเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งใหญ่ทั่วโลก ทำให้ในวันนี้การเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานจึงสำคัญมากเพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้