มุมมองเชิง 'เศรษฐกิจ' คุมการตลาดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง (HFSS)

มุมมองเชิง 'เศรษฐกิจ' คุมการตลาดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง (HFSS)

เด็กไทยมีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น เกรงโตไปป่วยโรค NCDs กรมอนามัยยก (ร่าง) กฎหมายมุ่งคุมการตลาดอาหาร-เครื่องดื่มที่กระทบสุขภาพเด็ก ขณะที่หลายภาคส่วนมองรายละเอียดยังคลุมเครือ 4 ประเด็นสำคัญ หวั่นกระทบทางเศรษฐกิจ สร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน

ข้อมูล กรมอนามัย ระบุว่า เด็กไทยตั้งแต่อายุ 5 ปีจนถึงวัยเรียน (6-14ปี) มีแนวโน้มอ้วนมากขึ้น โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ติด 1 ใน 3 อาเซียน และกรมอนามัย ยังเปิดเผยด้วยว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กของประเทศไทย ระหว่างปี 2557-ปี 2567 พบแนวโน้มเด็กเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นทุกปีโดยพบว่าเด็กอายุ 0-5 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจาก 3.6% เป็น 8.84% และเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจาก 8.9% เป็น 13.21% ซึ่งหากสามารถป้องกันเรื่องอ้วนตั้งแต่เด็กจะช่วยป้องกันเรื่อง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ โรค NCDs (Non-Communicable Diseases) ในผู้ใหญ่ได้ด้วย

ยกร่างกฎหมายคุมการตลาดใหม่ 

เป็นที่มา กรมอนามัยยก (ร่าง) พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ.... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาและแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติม โดยจะเป็นการจำกัดการโฆษณาและการตลาดแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี และควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารที่ไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงเกินเกณฑ์ หรือที่เรียกว่าอาหาร HFSS (High in Fat, Sugar and Sodium)

มุมมองเชิง \'เศรษฐกิจ\' คุมการตลาดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง (HFSS)

สาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับนี้ อาทิ ห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กทุกช่องทาง, ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กหรือตัวแทน จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในสถานศึกษา, ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก หรือตัวแทนดำเนินการที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย อันได้แก่ แจก แถม ให้อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก หรือตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จัดส่งแบบไม่คิดค่าบริการหรือเข้าร่วมรายการจัดส่งแบบไม่คิดค่าบริการร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น โดย "เด็ก" หมายความว่าบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

แผน WHO ป้องกันโรค NCDs

ทั้งนี้ตามแผนปฏิบัติการระดับโลกขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พ.ศ. 2556-2563 ขยายไปถึงปี 2573 นั้น การป้องกันและควบคุม โรค NCDs อย่างมีประสิทธิภาพจําเป็นต้องมีแนวทางของทั้งสังคมและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงภาคเอกชน อุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานกํากับดูแล ซึ่งล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าจําเป็นต้องมีการดําเนินการในหลายด้านของสังคม เพื่อเริ่มจัดการกับสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น "สภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดโรค"

เม็ดเงินโฆษณาหาย รวมถึงสร้างอุปสรรคต่อรายใหม่ 

ทว่า หากมองในมุมเศรษฐกิจ การออกกฎหมายคุมการตลาดฯ จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอุตสาหกรรมการโฆษณา จากงบประมาณการโฆษณาจะหายไป และเกิดความไม่เท่าเทียมของผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ ทำให้เสียเปรียบแบรนด์ใหญ่ๆ หรือเจ้าที่เป็นที่รู้จักอยู่ในตลาดแล้วเท่านั้น ซึ่งอุตสาหกรรมการโฆษณาไม่เพียงสร้างรายได้และการจ้างงาน ยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในวงกว้างด้วยการสร้างรายจ่ายผู้บริโภคและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตรายใหม่ การศึกษาของ Deloitte ในปี 2016 ระบุว่า 1 ยูโรที่ลงทุนในการโฆษณา สร้างรายได้ 7 ยูโรต่อ GDP ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ตุรกีประมาณการว่าทุกตุรกีลีราที่ใช้ไปกับการโฆษณาในปี 2020 สร้างรายได้ 19.4 ตุรกีลีราต่อ GDP และรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจของการโฆษณาในสหรัฐอเมริกา 2012-201, IHS Global Insight, 2013 ระบุว่า การใช้จ่ายโฆษณาทุกดอลลาร์จะสร้างรายได้โดยเฉลี่ยเกือบ 22 ดอลลาร์

ส่วนในประเทศไทย นีลเส็น เปิดเผยเม็ดเงินโฆษณาเมื่อไตรมาสแรกปี 2567 มูลค่าอยู่ที่ 27,721 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้งบประมาณมากที่สุดในไตรมาสแรกปี 2567 เทียบกับไตรมาสแรกปี 2566 คือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยมูลค่า 4,476 ล้านบาท ที่เติบโตถึง 21%

มุมมองเชิง \'เศรษฐกิจ\' คุมการตลาดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง (HFSS)

(ร่าง) กฎหมาย 4 ประเด็นยังไม่ชัด

สหพันธ์ผู้ลงโฆษณาโลก (World Federation of Advertiser: WFA) และอุตสาหกรรมอาหารเอเชีย (Food Industry Asia: FIA) มีมุมมองตรงกันว่า การควบคุมการตลาดในลักษณะดังกล่าว ยังมีความไม่สมเหตุสมผลใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

1. การกำหนดอายุเด็ก อยู่ที่ต่ำกว่า 18 บริบูรณ์ ไม่สอดคล้องกับคำว่าผู้เยาว์ในกฎหมายอื่นๆ ส่วนในประเทศอื่นช่วงอายุเด็กภายใต้กฎหมายที่คล้ายคลึงกันจะอยู่ที่ 12-16 ปี และบางประเทศที่กำหนดอายุ 18 ก็จำกัดการโฆษณาเพียงช่องทางโทรทัศน์ ไม่ใช่ทุกช่องทางยกตัวอย่าง ข้อจํากัดของรัฐบาลเกี่ยวกับการตลาด HFSS สําหรับเด็ก ในประเทศซาอุดีอาระเบียกำหนดอายุ 12 ปี, ควิเบก, เม็กซิโก อายุ 13 ปี เฉพาะทางโทรทัศน์, ชิลี อายุ 14 ปี, เปรู โปรตุเกส สหราชอาณาจักร อายุ 16 ปี และอาร์เจนตินา อินเดีย ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จำกัดอายุที่ 18 ปีเฉพาะทางโทรทัศน์

อย่างไรก็ตาม บทวิจารณ์ทางวิชาการหลายชิ้นตระหนักดีว่าเมื่ออายุ 12 ปีเด็กจะพัฒนาพฤติกรรมในฐานะผู้บริโภครับรู้การโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนําทัศนคติเชิงวิพากษ์วิจารณ์มาใช้กับโฆษณาที่ได้เห็นได้ ซึ่งการทบทวนงานวิจัยทางวิชาการที่ดําเนินการโดย "Sonia Livingstone" เกี่ยวกับโรคอ้วนในวัยเด็ก-การโฆษณาอาหารเผยแพร่เมื่อปี 2004 นั้น ไม่พบเหตุผลว่าเหตุใดเด็กโต เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปี จึงควรถูกจํากัดการเข้าถึงโฆษณาอาหาร 

มุมมองเชิง \'เศรษฐกิจ\' คุมการตลาดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง (HFSS)

โดยสรุปว่า ก่อนอายุ 4 หรือ 5 ขวบ เด็กถือว่าการโฆษณาเป็นเพียงความบันเทิง, ระหว่าง 4-7 ขวบ เริ่มสามารถแยกแยะการโฆษณาจากโปรแกรมได้, เมื่ออายุ 8 ขวบส่วนใหญ่เข้าใจความตั้งใจที่จะโน้มน้าวใจ และหลังจาก 11 หรือ 12 ปีสามารถแสดงความเข้าใจที่สําคัญเกี่ยวกับโฆษณาได้ 

2. ไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจนและมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่านโยบายจํากัดการตลาดสําหรับเด็กมีผลดีต่อการบริโภคอาหารของเด็ก โดยการอภิปรายของ McKinsey ในปี 2014 เรื่อง "การเอาชนะโรคอ้วน: การวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจเบื้องต้น" ระบุปัจจัยมากกว่า 100 ประการที่อาจเชื่อมโยงกับน้ำหนักเกินและโรคอ้วน และสรุปความคุ้มค่าของข้อจํากัดด้านสื่อในแง่ของการลด โรคอ้วน นั้นต่ำ และมีหลักฐานจํากัดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับการจํากัดสื่อ ข้อจํากัดในการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม จึงไม่ควรถูกมองเป็นวิธีง่ายๆ ที่จะนำมาแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก 

3. ยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ในส่วนของเกณฑ์ Unhealthy ซึ่งวัตถุประสงค์ของ (ร่าง) พ.ร.บ. นี้ คือการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาลและโซเดียมสูง (HFSS) แต่ยังไม่มีการให้ความชัดเจนเกี่ยวกับคําจํากัดความของ HFSS ที่จะนําไปใช้ โดยเกณฑ์ทางโภชนาการที่เหมาะสมควรได้รับการพิจารณาอย่างกว้างขวางกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอุตสาหกรรม ก่อนการอนุมัติร่างกฎหมาย โดยคํานึงถึงทั้งสารอาหารที่ต้องจํากัดและสารอาหารที่ส่งเสริม เช่น ไฟเบอร์ โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ เพราะอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดสามารถนําไปสู่การรับประทานอาหารที่หลากหลาย สมดุล และดีต่อสุขภาพ

ประเด็นที่ 4 สุดท้าย ใน (ร่าง) กฎหมายนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้มาตรการนี้กับร้านรถเข็นขายขนมหน้าสถานศึกษาด้วยหรือไม่ ซึ่งหากใช้ก็จะยิ่งสร้างผลกระทบต่อรายย่อยยิ่งขึ้น

การควบคุมการตลาดอาหาร HFSS (High in Fat, Sugar and Sodium) มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งปกป้องสุขภาพเด็กถือเป็นความพยายามสำคัญในการลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพเรื้อรังในอนาคต (NCDs) อย่างไรก็ตาม (ร่าง) กฎหมายที่นำเสนอ แม้จะมีเจตนาที่ดีในการปกป้องสุขภาพเด็ก แต่ยังมีความท้าทายหลายประการ ทั้งในเรื่องความไม่ชัดเจนในคำจำกัดความ การกำหนดอายุเด็ก ความคุ้มค่าของมาตรการ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแง่ของอุตสาหกรรมโฆษณาและผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ ทั้งนี้การพัฒนากฎหมายควรพิจารณาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมุมมองทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความสมดุล ในขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ควรต้องดำเนินไปอย่างครอบคลุมรอบด้าน ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยผู้ผลิตเองก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสความห่วงใยสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคด้วย

อ้างอิง