งบโฆษณา ‘ทีวี - วิทยุ - สิ่งพิมพ์’ ติดลบ! 3 บิ๊กสื่อ หาน่านน้ำใหม่ สร้างรายได้
ผลประกอบการ 3 บิ๊กสื่อ "ช่อง3 - ช่องวัน31 - ช่องโมโน29" แม้จะทำรายได้ไตรมาส 2 เติบโต ทว่า เม็ดเงินหลักจากการขายโฆษณายังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ตามเศรษฐกิจ กำลังซื้อ หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้สินค้า แบรนด์ "ระมัดระวังใช้จ่าย"
ผ่านครึ่งปี 2567 ภาพรวมเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา กระเตื้องเล็กน้อย โดยข้อมูลจากนีลเส็นระบุเงินสะพัด 2 ไตรมาสรวมมูลค่า 57,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีมูลค่า 55,021 ล้านบาท
เฉพาะไตรมาส 2 เงินโฆษณาสะพัดเพิ่มขึ้น 3% หรือคิดเป็น 945 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการของ “บิ๊กอุตสาหกรรมสื่อ” แม้จะมีรายได้เติบโต “กำไร” เพิ่มขึ้น ทว่า รายได้จากโฆษณาที่เป็นแหล่งทำเงินหลักยังคงอยู่ในภาวะ “ชะลอตัว” ทำให้การหาน่านน้ำใหม่สร้างรายได้ยังเป็นหมากรบสำคัญ
"ช่อง 3" ภายใต้บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ผลงานไตรมาส 2 รายได้จากการดำเนินงานซึ่งไม่รวมรายได้อื่น อยู่ที่ 1,109.7 ล้านบาท ลดลง 7.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วน “กำไรสุทธิ” อยู่ที่ 71.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 403.8% จากไตรมาส 1 แต่ “ลดลง” 4.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจ ยังเป็น “เม็ดเงินโฆษณาสื่อโทรทัศน์” ที่ทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความเปราะบางทั้งการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีข้อจำกัด เพราะผลกระทบหนี้ครัวเรือน เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูง
เมื่อดูรายได้จากการขายโฆษณาไตรมาส 2 ทำเงิน 924.9 ล้านบาท ลดลง 13.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยช่อง 3 ได้ย้ำ “ผู้ใช้งบโฆษณายังคงลงทุน” และ “ใช้จ่ายแบบระมัดระวัง” ส่วนธุรกิจอื่นๆ ยังขยายตัวได้ เช่น การให้ใช้ลิขสิทธิ์ และบริการอื่น ทั้งขายละครไปต่างประเทศ และดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำเงินรวม 183.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.4% เทียบปีก่อน และปัจจุบันสร้างสัดส่วนรายได้ 16.5%
ธุรกิจภาพยนตร์เป็นอีกน่านน้ำใหม่ของช่อง 3 จากธี่หยดทำเงินกว่า 400 ล้านบาท ในปีก่อน ปี 2567 ต่อยอดเพิ่ม ผนึก “เอ็ม สตูดิโอ” สร้าง “มานะแมน” และยังมี “ธี่หยด 2” เพื่อโกยเงินจากคอหนัง ขณะที่ธุรกิจแฟนมีท ยังลุยจัดเอาใจแฟนคลับ คอละครด้วย
ส่วน “ช่องวัน31” ของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด(มหาชน) ไตรมาส 2 ทำรายได้รวม 1,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.56% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ “กำไรสุทธิ” 121 ล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน โดย “สื่อทีวี” ยังเป็นธุรกิจหลักทำรายได้ 746.48 ล้านบาท ลดลง 8.09% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ธุรกิจอื่นๆ เช่น การจัดคอนเสิร์ตและบริหารกิจกรรมอยู่ที่ 211.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.15%
ธุรกิจบริหารศิลปินทำรายได้ 264.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.86% โดยจุดแข็งของบริษัทคือ การมีศิลปิน ไอดอลที่โด่งดังรวมกว่า 200 ชีวิต เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไป สามารถต่อยอดสร้างการเติบโตจากธุรกิจต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต แฟนมีท การขายสินค้าที่ระลึก รับงานโชว์ตัว พรีเซ็นเตอร์ และแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับสินค้าแบรนด์ชั้นนำของไทย และต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมครึ่งปีบริษัทมีรายได้รวม 3,093.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 152.38 ล้านบาท ลดลง 11.76%
ขณะที่ “ช่องโมโน 29” ของบริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด(มหาชน) ไตรมาส 2 สร้างรายได้รวม 485.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมี “กำไรสุทธิ” 32.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127.7% เมื่อจำแนกรายได้ “การให้บริการสื่อโฆษณา” ยังหดตัว 9.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสามารถทำเงินได้ 264.9 ล้านบาท โดยภาพดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางโฆษณาทีวีที่ปรับตัว “ลดลง” จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้บริษัทจะมองบวกถึงการฟื้นตัวของสื่อโฆษณาทีวีจะค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม
สำหรับรายได้อื่นๆ โมโนฯ ยังขยายตัวได้ เช่น การให้บริการคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์ม Monomax และ 3BB GIGATV เติบโต 10.4% สอดรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใช้สินค้า และบริการดิจิทัล
นอกจากนี้ โมโนฯ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อลดค่าใช้จ่ายพนักงาน ซึ่งปี 2567 เซฟเงินจากแผนดังกล่าวได้ 17 ล้านบาทต่อเดือน หรือลดลง 50% เทียบก่อนปรับโครงสร้าง
อย่างไรก็ตาม ปี 2567 โมโนฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 1,200 ล้านบาท โดย Monomax เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญจะสร้างรายได้ 650-700 ล้านบาท และยังเดินหน้าผนึกพันธมิตรเพื่อขยายฐานสมาชิก
หมวดสินค้าที่ใช้จ่ายงบโฆษณา
ขณะที่นีลเส็นรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาไตรมาส 2 มีเม็ดเงินสะพัด 29,908 ล้านบาท เจาะประเภทสื่อพบว่า ทีวีมีสัดส่วนเม็ดเงินมากสุด 51% สะท้อนยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารการตลาด และครองงบโฆษณาได้ 15,172 ล้านบาท ทว่า ยัง “ติดลบ” 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนสื่อโฆษณานอกบ้านหรือ Out of Home : OOH ร้อนแรงโกยเงิน 4,379 ล้านบาท เติบโต 8% สื่อในโรงภาพยนตร์ 869 ล้านบาท เติบโต 48% วิทยุ 865 ล้านบาท “หดตัว” 7% สื่อสิ่งพิมพ์ 494 ล้านบาท “ติดลบมากสุด 30%” สื่อในห้าง 239 ล้านบาท เติบโต 19% และสื่ออินเทอร์เน็ต 7,890 ล้านบาท เติบโต 9%
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์