'มูลนิธิรักษ์ไทย' ขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล

'มูลนิธิรักษ์ไทย' ขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล

"มูลนิธิรักษ์ไทย" ขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล มอบเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา FDR Xair จาก "ฟูจิฟิล์ม" ให้กับ "รพ. แม่ตื่น" อ. อมก๋อย จ. เชียงใหม่

มูลนิธิรักษ์ไทย สมาชิกองค์กร CARE International เติมเต็มการทำงานรพ.แม่ตื่น อ.อมก๋อย ด้วยการมอบเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพา FDR Xair จาก ฟูจิฟิล์ม โดยการจัดซื้อผ่านการสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อนำไปใช้ในภารกิจ ยุติวัณโรค ด้วยการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงและประชากรกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข โดยคาดว่าจะสามารถตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้ถึง 1,500 รายต่อปี จากประชากรกว่า 70,000 รายในพื้นที่อมก๋อย

จากการลงพื้นที่ของมูลนิธิรักษ์ไทยใน อ.อมก๋อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากจ.เชียงใหม่ การเดินทางค่อนข้างลำบาก ประชากร 90% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เหลือบางส่วนไม่มีสิทธิและสถานะใด และเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด โอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HIV, ไวรัสตับอักเสบ และวัณโรคเกิดขึ้นได้สูง

มอบนวัตกรรมเอกซเรย์แบบพกพา เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล

ภายใต้โครงการ Stop TB and AIDS through RRTTPR year 2024-26 (STAR 2024-26) ของมูลนิธิรักษ์ไทย มุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มประชากรข้ามชาติและกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งหมด 19 จังหวัด ได้รับงบประมาณจากกองทุนโลกจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพา FDR Xair พร้อมระบบ AI จากฟูจิฟิล์ม ในการช่วยพัฒนาผลการดำเนินงานด้านการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุก ในชุมชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึงการคัดกรอง  

\'มูลนิธิรักษ์ไทย\' ขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล

นิภา ชมภูป่า ผู้ประสานงานโครงการสุขภาพ มูลนิธิรักษ์ไทยภาคเหนือ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ มีแรงงานข้ามชาติราว 200,000 คน เป็นกลุ่มขึ้นทะเบียนแรงงานถูกต้องประมาณ 80,000 คน การนำประชากรกลุ่มนี้มาเข้ากระบวนการตรวจคัดกรองเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะในพื้นที่อมก๋อย ที่มีประชากรข้ามชาติและแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่มาก เราจึงมอบเครื่องมือที่สำคัญต่อการตรวจคัดกรองให้กับ รพ.แม่ตื่น เพื่อช่วยทีมแพทย์ประเมินผลเอกซเรย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างการออกหน่วยตรวจคัดกรอง เพื่อนำผู้เสี่ยงติดเชื้อไปรับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่การเดินทางลำบากมาก ประชาชนใน อ.อมก๋อย ไม่สามารถเดินทางไปที่สถานพยาบาลได้สะดวก ยิ่งไปกว่านั้นรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ การมีเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา FDR Xair ก็จะทำให้ทีมแพทย์สามารถเข้าไปช่วยเหลือและตรวจรักษาประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

มุ่งคัดกรองกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด 

รพ.แม่ตื่น ให้บริการผู้ป่วยใน 10 เตียง และผู้ป่วยนอกวันละราว 100 คน ดูแลรับผิดชอบประชากรราว 16,500 คน ครอบคลุม 2 ตำบลของ อ.อมก๋อย คือ ต.แม่ตื่น และ ต.ม่อนจอง โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 3 แห่ง พื้นที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มาก และการเดินทางต้องขึ้นเขาสูงชันกว่า 3 ชั่วโมง

ในพื้นที่มีผู้ป่วยติดฝิ่นและผู้ป่วย HIV อยู่ด้วย เพราะฉะนั้น อันตรายจากการใช้สารเสพติดที่เกิดจากการรวมกลุ่มใช้เข็มฉีดยาร่วมกันมีสูงมาก มีความเสี่ยงที่จะติดโรคติดต่อทางเลือดได้มากกว่าประชากรทั่วไปหลายเท่า และการนำประชากรกลุ่มนี้มาตรวจคัดกรองและรักษาก็เป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย ทาง รพ. ต้องออกหน่วยไปตั้งจุดตรวจในชุมชน 

\'มูลนิธิรักษ์ไทย\' ขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล

เมื่อปี 2565 รพ.จัดทำ "เมทาโดนโมบายยูนิต" เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดมาเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ด้วยการออกหน่วยไปตั้งจุดให้เมทาโดนในชุมชน ต่อมาในปี  2566 ได้จัดคัดกรองวัณโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์ โดยประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำประชาชนมาเข้ารับการตรวจ และตั้งคลินิกรักษาผู้ป่วยเอชไอวีร่วมไปด้วย

ตั้งเป้าคัดกรอง 100%

ในปี 2567 รพ.แม่ตื่น วางแผนคัดกรองโรคร่วมในผู้ป่วยคลินิกเมทาโดน 100% คือจำนวน 340 ราย เป็นกลุ่มเป้าหมายพื้นที่ห่างไกลเดินทางลำบากที่ศูนย์สาธารณสุขชุมชน (สสช.) บ้านแม่เทย 120 ราย สสช. หม่าโอโจ 37 ราย สสช.บ้านบราโก 12 ราย ส่วน รพ.แม่ตื่น 112 ราย และ รพ.สต.บ้านห้วยน้ำขาว 59 ราย 

"เครื่องเอกซเรย์ FDR Xair นี้ตอบโจทย์ในการทำงานของ รพ.แม่ตื่น อย่างมาก เพราะรพ. มีแพทย์น้อยเพียง 3 คน โดยเฉพาะมีเทคโนโลยี AI ที่แสดงผลได้เลยว่าปอดผิดปกติเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรค ช่วยแบ่งเบาภาระงานของแพทย์ได้มาก ที่สำคัญทำให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการตรวจรักษาได้อย่างรวดเร็ว สามารถรักษาหายเมื่อรับประทานยาครบตามกำหนด 6 เดือน ป้องกันการแพร่เชื้อและป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยา" นพ.ธนชล กล่าว

\'มูลนิธิรักษ์ไทย\' ขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล

ฟูจิฟิล์มร่วมเดินหน้าแผนยุติวัณโรค 

สิทธิเวช เศวตพัชร์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจระบบทางการแพทย์ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟูจิฟิล์ม ตระหนักถึงการแพร่ระบาดของ วัณโรค โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยการทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร "STOP TB Partnership" ที่จัดตั้งขึ้นโดยสำนักงานบริการโครงการแห่งสหประชาชาติ (UNOPS) เสนอโครงการยุติวัณโรค Stop TB ฟูจิฟิล์มได้ร่วมนำเทคโนโลยีเอกซเรย์มาต่อสู้กับวัณโรค เพราะการตรวจพบเชื้อในระยะเริ่มต้น เป็นกุญแจสำคัญสู่การรักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ เครื่องเอกซเรย์ FDR Xair มีขนาดกะทัดรัด พกพาง่าย และอ่านผลได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับการออกหน่วยตรวจนอกโรงพยาบาล จุดแข็งของเครื่องนี้คือขนาดเล็กและน้ำหนักที่เบาเพียง 3.5 กก. ทั้งยังมีแบตเตอรี่ในตัว ทำให้พกพาไปออกตรวจได้แบบไม่ต้องใช้ไฟฟ้า 

ทั้งนี้ ฟูจิฟิล์ม ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน ภายใต้จุดมุ่งหมายใหม่ของกลุ่มบริษัทฟูจิฟิล์มในการ "แต่งแต้มรอยยิ้มให้โลกของเรา" บริษัทฯ เดินหน้าสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในภารกิจ ยุติวัณโรค เพื่อนำไปสู่การรักษาโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้คนอีกมากมาย

\'มูลนิธิรักษ์ไทย\' ขับเคลื่อนโครงการยุติวัณโรคเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล