รู้จัก EUDR กฎใหม่ EU เข้มจำหน่าย-นำเข้าสินค้า ไม่ทำลายป่า สร้างเกษตรยั่งยืน

รู้จัก “EUDR” กฎใหม่ EU เข้มจำหน่าย-นำเข้าสินค้า ไม่ทำลายป่า สร้างเกษตรยั่งยืน โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์
2,625 ล้านไร่ หรือ 420 ล้านเฮกตาร์ คือพื้นที่ป่าทั่วโลกที่สูญหาย อันเนื่องมาจาก การตัดไม้ทำลายป่า และการเพิ่มขึ้นของการบริโภคทั่วโลก เทียบแล้วใกล้เคียงกับพื้นที่ของสหภาพยุโรปทั่วทั้งภูมิภาค และเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศบราซิล และจีน
ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ข้างต้น ระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือระหว่างปี 1990-2020 และคาดว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การสูญหายของพื้นที่ป่ายังขัดต่อเป้าหมายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ทำให้ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเสียหาย และส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ยังสวนทางกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะข้อที่ 13 ว่าด้วยการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และข้อที่ 15 ว่าด้วยการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดิน และฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
จากปัญหาดังกล่าว หนึ่งในภูมิภาคของโลกที่สำคัญอย่างสหภาพยุโรป จึงได้ออก "กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า" หรือ The EU Deforestation-free Regulation (EUDR) ที่เป็นเสมือนกรอบนโยบายที่มุ่งเน้นการจัดการ และบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของข้อตกลงสีเขียวของสหภาพยุโรป
กฎหมายนี้ป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสินค้าที่เสี่ยงต่อการ ตัดไม้ทำลายป่า หรือการบุกรุกป่า ทั้งสินค้าภายในสหภาพยุโรป และสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายใน สหภาพยุโรป โดยกำหนดสินค้าทางการเกษตร 7 รายการ ได้แก่ วัว ไม้ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ และยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากสินค้าดังกล่าว อาทิ ช็อกโกแลต เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ถ่าน และสินค้าที่มีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องมีภาระผูกพันตามกฎหมาย 3 ขั้นตอน ได้แก่
- ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า: การผลิตของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องไม่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าหรือการเสื่อมสภาพของป่า และต้องสามารถระบุแหล่งที่มาอย่างโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยไม่คำนึงถึงว่าการตัดไม้ทำลายป่าหรือการเสื่อมสภาพของป่านั้นถูกกฎหมายตามกฎหมายที่ใช้บังคับในประเทศผู้ผลิตหรือไม่
- ผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย: การผลิตของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศที่ผลิต
- การตรวจสอบความรอบคอบ (Due diligence): ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องมีการยืนยันความรอบคอบที่มีพื้นฐานจากการประเมินความเสี่ยงด้านการตรวจสอบความรอบคอบ ซึ่งต้องมีการรายงานกับฐานข้อมูลของสหภาพยุโรป
ดังนั้น สินค้าที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ "กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า" หรือ The EU Deforestation-free Regulation (EUDR) จะถูกห้ามนำเข้าสหภาพยุโรป
หากพิจารณาผลกระทบต่อประเทศไทย สามารถมองได้ว่า เป็นทั้ง "โอกาส" และ "ความท้าทาย" โดยเฉพาะต่อภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ประกอบธุรกิจข้องเกี่ยวกับ สหภาพยุโรป ข้อมูลจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้า 7 รายการไปสหภาพยุโรปคิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ย่อมส่งผลต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากเป็น "โอกาส" กฎหมายดังกล่าวจะสามารถช่วยให้เกษตร และผู้ประกอบการไทย สามารถผลิตสินค้าที่ยั่งยืน จนได้รับโอกาส และความไว้วางใจให้เข้าถึงตลาดยุโรป นับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับระบบห่วงโซ่อุปทาน กระบวนการผลิต และสินค้าไทยในเวทีสากล
ส่วน "ความท้าทาย" นับว่า ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งหากพิจารณากฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า กฎหมายให้ความสำคัญกับ "ระบบตรวจสอบ" ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และช่วงเวลาของการผลิตทางการเกษตรหรือป่าไม้ขั้นต้น
ระบบตรวจสอบของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในที่นี้คือ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เป็นระบบติดตาม และตรวจสอบการเดินทางของสายพานการผลิต และการได้มาซึ่งวัตถุดิบ และสินค้า กระบวนการแต่ละขั้นตอนจะได้รับการจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบ "ย้อนไป และย้อนกลับ" ได้ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยการสำรวจ เก็บข้อมูล และแสดงผลให้แม่นยำและเที่ยงตรง
ระบบตรวจสอบย้อนกลับ มีสองประเด็นที่เราจำเป็นต้องขีดเส้นใต้ ประเด็นแรกคือ ผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีหน้าที่ต้อง "ตรวจสอบ และประเมิน" (Due Diligence) กระบวนการได้มาของวัตถุดิบ และสินค้า ย้อนกลับไปหาผู้ผลิต ให้ปลอดจากกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่สองคือ มีหน้าที่ต้อง "เปิดเผยข้อมูล" เพื่อสร้างความโปร่งใส ไม่เพียงต่อผู้กำกับนโยบาย (Regulator) แต่รวมถึงผู้ค้า และผู้เกี่ยวข้อง ระบบตรวจสอบย้อนกลับจึงเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร จำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป
สำหรับประเทศไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EUDR ของ สหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักเกณฑ์ทั้งในประเทศและสากล ยกตัวอย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (ซีพีพี) และกรุงเทพโปรดิ๊วส (บีเคพี) ได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการรับซื้อและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม พร้อมขยายแนวทางนี้สู่เขตธุรกิจในเมียนมา โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและจีพีเอสในการระบุพิกัดป่าเขาและพื้นที่เผา นำไปสู่การตั้งมาตรฐานปฏิเสธการซื้อขายจากพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งยังร่วมมือกับสมาคมผู้ค้า เกษตรกร และพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบและสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน หรือ ซีพีเอฟ ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะแสดงแหล่งที่มาสินค้า ข้อมูลสินค้า ตลอดจนปริมาณการผลิตสินค้า ที่มีสัดส่วนการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของผลิตภัณฑ์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป ในฐานะที่เป็นมาตรการสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนและไม่บุกรุกป่า ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว โดยรัฐบาลและองค์กรสนับสนุนควรเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการในทุกระดับ
ถึงเวลาแล้วที่ "ไทย" จะต้องปรับตัวให้เท่าทันมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งนอกจากไม่เพียงสร้างความไว้วางใจต่อสินค้าไทย แต่ยังยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างยั่งยืนอีกด้วย