สงครามกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร

สงครามกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร

ผมส่งต้นฉบับบทความนี้เมื่อวันศุกร์ ครบเก้าวันพอดีที่รัสเซียส่งกำลังเข้าโจมตียูเครน ซึ่งชัดเจนว่าการต่อสู้จะยืดเยื้อและกลุ่มประเทศนาโต สหรัฐ รวมถึงประเทศแนวร่วมที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัสเซีย

ประเทศเหล่านี้เข้าช่วยเหลือยูเครนเต็มที่ ทั้งให้อาวุธ ใช้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และใช้มาตรการคว่ำบาตรเป็นอาวุธหลักตอบโต้รัสเซีย คำถามคือมาตรการคว่ำบาตรจะสามารถเปลี่ยนผลของสงครามที่กำลังเกิดขึ้นได้หรือไม่ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่สามารถเปลี่ยนการตัดสินใจทางทหารได้ ส่วนหนึ่งเพราะประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ทำจริงจัง 

แต่คราวนี้มาตรการคว่ำบาตรดูแตกต่างจากเดิม คือ หนึ่ง ทำได้เร็ว สอง มีประเทศเข้าร่วมมากทั้งในกลุ่มนาโต สหรัฐ และประเทศนอกกลุ่มนาโตเช่น สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน 

สาม ขอบเขตการคว่ำบาตรคราวนี้เข็มข้นและลึกซึ้ง คือไม่ใช่เป็นการลงโทษทางเศรษฐกิจ แต่มีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอจนไม่สามารถสนับสนุนการทำสงครามได้

มาตรการคว่ำบาตรคราวนี้แบ่งได้เป็นสามกลุ่ม

กลุ่มแรก คือ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยห้ามธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่เข้าร่วมการคว่ำบาตรทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์รัสเซียรวมถึงทำธุรกรรมของหรือที่เกี่ยวโยงกับบริษัทรัสเซีย และที่เป็นเรื่องใหม่คือตัดธนาคารพาณิชย์รัสเซียเจ็ดธนาคารออกจากระบบ swift ซึ่งเป็นระบบยืนยันธุรกรรมการโอนเงินระหว่างธนาคารที่สถาบันการเงินทั่วโลกใช้ 

ทำให้ธนาคารรัสเซียจะไม่สามารถหรือมีข้อจำกัดมากในการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินทั่วโลก เหมือนถูกตัดออกจากระบบการเงินโลก นอกจากนี้การลงทุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีของภาคธุรกิจให้กับบริษัทหรือโครงการในรัสเซียก็ไม่สามารถทำได้ รวมทั้งปิดน่านฟ้าไม่ไห้เครื่องบินรัสเซียบินผ่านซึ่งจะกระทบการติดต่อธุรกิจและการเดินทางของประชาชน

สอง จำกัดไม่ให้ธนาคารกลางรัสเซียทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินนอกประเทศได้โดยเฉพาะธนาคารในสหรัฐและยุโรป เป็นมาตรการใหม่ที่ไม่เคยใช้กับรัสเซียมาก่อน ทำให้รัสเซียจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากถึง 630 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ 

คือไม่สามารถถอนเงินหรือขายสินทรัพย์เงินตราต่างประเทศที่มี ปัจจุบันกว่า 70 เปอร์เซนต์ของทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียเป็นเงินฝาก พันธบัตร หรือสินทรัพย์อื่นในสกุลเงินต่างประเทศ ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซนต์กว่าเป็นทองคำที่เก็บรักษาไว้ในประเทศ 

การคว่ำบาตรจะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกลางจะไม่สามารถดูแลค่าเงินรูเบิล หรือให้สภาพคล่องเงินตราต่างประเทศกับภาคธุรกิจ หรือช่วยธนาคารพาณิชย์ที่ขาดเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพ ทำให้ล่อแหลมต่อการเกิดวิกฤติ

สาม จำกัดเสรีภาพในการใช้ชีวิตใช้ความมั่งคั่งของอภิมหาเศรษฐีรัสเซียที่มีธุรกิจ มีทรัพย์สิน และพักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียที่มีทรัพย์สินในต่างประเทศ

สงครามกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร

จากที่บุคคลเหล่านี้ใกล้ชิดและสนับสนุนประธานาธิบดีปูติน ทำให้ชีวิตคนเหล่านี้จะอยู่ยาก คือใช้เงินและทรัพย์สินที่มีไม่ได้ เดินทางไม่ได้ ไม่ให้วีซ่าพักอาศัยหรือเข้าประเทศ ถูกกดดันให้ขายสินทรัพย์และการลงทุนในต่างประเทศที่มี รวมถึงเสี่ยงต่อการถูกยึดทรัพย์สิน 

    ล่าสุด โรมัน อบราโมวิช อภิมหาเศรษฐีชาวรัสเซียประกาศขายสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่ตนเป็นเจ้าของและประกาศจะนำเงินที่ได้จากการขายบริจาคให้มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม นี่คือตัวอย่างของแรงกดดัน

จึงชัดเจนว่า มาตรการคว่ำบาตรคราวนี้รุนแรง และหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยในสองระดับ 
    1) ให้คนใกล้ชิดประธานาธิบดีปูตินที่ได้ประโยชน์จากระบอบปูตินได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นการส่วนตัวจนไม่ต้องการสนับสนุนนโยบายการทำสงครามของประธานาธิบดีปูตินอีกต่อไป 
    2) ให้ประชาชนรัสเซียเดือดร้อนจากมาตรการคว่ำบาตรจนจะไม่อยู่เฉยกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีที่นำประเทศเข้าสู่สงครามและจะเรียกร้องให้หยุดสงคราม ซึ่งในประวัติศาสตร์มีบทเรียนมากมายที่ผู้นำประเทศอยู่ในอำนาจไม่ได้เมื่อประชาชนเดือดร้อนและไม่สนับสนุน

ข้อมูลล่าสุดชี้ว่ามาตรการคว่ำบาตรกำลังแสดงผล เห็นได้จากค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงกว่า 30 เปอร์เซนต์ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาที่เกิดสงคราม จนธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ20 เพื่อพยุงค่าเงิน ตลาดหุ้นปิดทำการเพราะเกรงการเทขายหุ้น เศรษฐกิจเริ่มขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ 

มีการบังคับให้บริษัทที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศต้องขายเงินต่างประเทศที่มี บริษัทไม่สามารถทำธุรกิจและชำระหนี้กับต่างประเทศได้จนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ประเทศเริ่มขาดแคลนสินค้า ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น ขณะที่ประชาชนเข้าคิวถอนเงินจากธนาคารเพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์

สิ่งที่ธนาคารกลางรัสเซียต้องระวังจากนี้ไปคือ การเกิด Capital flight คือ ประชาชนรัสเซียไม่วางใจสถานการณ์ นำทรัพย์สินที่มีออกนอกประเทศโดยแลกเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะกดดันให้เงินรูเบิลยิ่งอ่อนค่าและไร้เสถียรภาพ มีความเสี่ยงที่ประชาชนจะถอนเงินจากธนาคาร

เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยของเงินฝากและกลัวการด้อยค่าของอำนาจซื้อของเงินฝากจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงและจะเร่งตัวมากขึ้น กดดันให้ธนาคารมีปัญหาสภาพคล่องและมีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพ

ท้ายสุดคือความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงหรือ Hyperinflation ถ้าธนาคารกลางถูกกดดันให้พิมพ์ธนบัตรเพื่อให้รัฐบาลมีเงินที่จะใช้จ่ายในการทำสงคราม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นผลเสียหายต่อเศรษฐกิจจะรุนแรงมาก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรุนแรงของมาตรการคว่ำบาตรจะทำให้รัสเซียตอบโต้ทั้งในแง่เศรษฐกิจ เช่น หยุดการส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันให้กับประเทศตะวันตกซึ่งจะกระทบประเทศในยุโรปมากและทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในรัสเซียจะยิ่งคับขัน มีการตอบโต้ด้วยมาตรการทางทหารโดยยกระดับการโจมตียูเครนให้รุนแรงขึ้น ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผู้ที่บอบช้ำและได้รับผลกระทบมากสุดคือประชาชนทั้งในยูเครนและรัสเซีย

ที่ต้องตามดูคือประชาชนรัสเซียจะพร้อมสนับสนุนการตัดสินใจของผู้นำประเทศในเรื่องสงครามต่อไปหรือไม่ นี่คือปัจจัยที่จะเปลี่ยนผลและทิศทางของสงคราม.

สงครามกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]