รัสเซียบุกยูเครน : ความเสี่ยงไม่เกินจริง | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

รัสเซียบุกยูเครน : ความเสี่ยงไม่เกินจริง | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่หลายฝ่ายคาดไม่ถึง คือการประกาศจัดประชุมการเจรจาสุดยอดสองผู้นำโลก “โจ ไบเดน-วลาดิมีร์ ปูติน” ผ่านวีดิโอคอลในวันอังคารที่ 7 ธ.ค.นี้

การเจรจาสุดยอดสองผู้นำโลกว่าด้วยประเด็นที่รัสเซียมีโอกาสสูงที่จะใช้กำลังทหารยึดประเทศยูเครน จะว่าไปความเป็นไปได้ที่ทั้งคู่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันแบบง่ายๆ ถือว่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากความสัมพันธ์ของผู้นำทั้งสองอยู่ในระดับที่ไม่ดีเอาเสียเลย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากภาพถ่ายจากทางอากาศของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ แสดงถึงความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลรัสเซียได้ส่งทหาร 175,000 นาย ประชิดชายแดนยูเครน รวมถึงมีการเคลื่อนอาวุธและกำลังพล แสดงถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นมากสำหรับการบุกยูเครนของรัสเซีย

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมรัสเซียถึงต้องการบุกยูเครนในช่วงเวลานี้ ที่โควิดสายพันธุ์ใหม่กำลังเริ่มแพร่กระจาย? และอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ หาก วลาดิมีร์ ปูติน ตัดสินใจใช้กำลังทหารยึดยูเครนขึ้นมาจริงๆ

ย้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก่อนปี 2534 ยูเครนถือเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ก่อนที่จะประกาศอิสรภาพออกมาเป็นประเทศที่มีเอกราชเป็นของตนเอง อย่างไรก็ดี ทางรัสเซียในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ยอมรับการประกาศอิสรภาพของยูเครนแบบเต็มใจ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนยูเครนที่ติดกับภาคตะวันตกของรัสเซีย 

จนต้องเกิดการเซ็นสนธิสัญญามินสก์ โดยมีเยอรมนีและฝรั่งเศสร่วมเป็นเจ้าภาพในปี 2014 และสนธิสัญญามินสก์ 2 ในปี 2015 เพื่อยุติขอขัดแย้งดังกล่าว อย่างไรก็ดี ทางรัสเซียก็ได้กล่าวหาทางยูเครนว่าไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งอาจจะใช้เป็นเงื่อนไขบุกยึดยูเครนดังที่เป็นข่าวในตอนนี้

นอกจากนี้ ในความคิดของชาวรัสเซียโดยทั่วไปก็มองยูเครนว่า แท้จริงแล้วควรเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมาได้ใช้ทรัพยากรของรัสเซียไปพัฒนาโครงการต่างๆ กระทั่ง ณ ตอนนี้ หลายพื้นที่มีความเจริญมากกว่ารัสเซีย จึงทำให้การประกาศอิสรภาพเมื่อ 30 ปีก่อนเป็นสิ่งที่ชาวรัสเซียหลายภาคส่วนยังคงติดใจอยู่ลึกๆ

หากพิจารณาในมิติของภูมิศาสตร์ ยูเครนเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของรัสเซีย เป็นจุดที่จะเปิดประตูไปสู่ยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบก ทางอากาศ หรือท่อก๊าซ รวมถึงเป็นบริเวณที่จะออกไปสู่ทะเลดำในการลำเลียงน้ำมันดิบออกไปสู่ทั่วโลก ดังนั้น ในแง่ของผลประโยชน์จึงไม่แปลกที่จะรัสเซียอยากจะขยายอาณาเขตเข้าสู่ยูเครน

เพราะเหตุใดถึงต้องเป็นช่วงเวลานี้ด้วย? คำตอบคือบรรยากาศทางการเมืองในประเทศยูเครน ณ ตอนนี้ ความนิยมของรัฐบาล ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เซเลนสกี้ ถือว่าตกต่ำสุดขีด ทำให้การจัดการสถานการณ์หลังการยึดยูเครนของรัสเซีย น่าจะทำได้ไม่ยาก และที่สำคัญจะทำให้ความนิยมต่อชาวรัสเซียของปูตินสูงขึ้นตามไปด้วย

หลายคนยังมองว่าการที่ปูตินอยากจะปิดเกมนี้ให้เร็วขึ้น เนื่องจากล่าสุด ทางรัฐบาลเยอรมนีได้ตัดสินใจเลื่อนการปิดดีลท่อก๊าซ Nordstream-2 โครงการส่งก๊าซจากรัสเซียไปเยอรมนี โดยไม่ผ่านพื้นที่ของยูเครน ทำให้รัสเซียมองว่าการยึดยูเครนในครั้งนี้ ทำให้ไม่ต้องมาพึ่งพาโครงการนี้แบบจริงจัง เนื่องจากจะได้เป็นเจ้าของท่อก๊าซในยูเครนโดยตรง

รัสเซียบุกยูเครน : ความเสี่ยงไม่เกินจริง | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

หากรัสเซียยึดยูเครนจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง? หากพิจารณาจากการยึดไครเมียเมื่อปี 2557 จะพบว่ากลุ่มประเทศตะวันตกทั้งสหรัฐและยุโรป ต่างพากันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งต่อรัฐบาลรัสเซียและภาคเอกชนของรัสเซีย ทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องทนกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงการที่ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรัสเซียตกต่ำสุดๆ ด้วยการนำเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะในช่วงนั้นออกมาขาย

ในครั้งนี้ ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันตกต่อรัสเซียอีก หากมีการบุกยึดยูเครนจริงๆ อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้ รัสเซียเองมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมันอย่างโอเปคมากกว่าเมื่อ 7 ปีก่อน คาดว่ารัสเซียน่าจะสามารถทนทานการคว่ำบาตรดังกล่าวได้มากกว่าครั้งที่แล้ว

สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดต่างๆ นั้น หลังจากรัสเซียยึดไครเมียเมื่อเดือน มี.ค.2557 พบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำลงมาก โดยหลังจากนั้น 1 ปี ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงร้อยละ 52 ส่วนตลาดหุ้นทั้งในสหรัฐและยุโรปไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากการส่งออกสินค้าของทั้งคู่ที่มีต่อรัสเซียไม่ได้มีมูลค่ามากมายนัก โดยหลังจากนั้น 1 ปี ดัชนีหุ้นสหรัฐและยุโรปขึ้นมาร้อยละ 17 และร้อยละ 10 ตามลำดับ.
คอลัมน์ มุมคิดมหภาค
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (WeAsset)