พ.ร.ก.สารต้องห้ามฯ ปลดล็อกการแบนจาก WADA | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

พ.ร.ก.สารต้องห้ามฯ ปลดล็อกการแบนจาก WADA | สุพัทธ์รดา เปล่งแสง

19 ธ.ค.2564 นักกีฬาแบดมินตันคู่ผสม “บาส“ เดชาพล พัววรานุเคราะห์-"ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คว้าแชมป์ BWF World Championship 2021 ที่ประเทศสเปน

ผลงานครั้งนี้สร้างประวัติศาสตร์เป็นคู่ผสมคู่แรกของไทยที่คว้าแชมป์โลกได้สำเร็จ และครองมือหนึ่งของโลก หากแต่ในช่วงพิธีรับมอบเหรียญรางวัลกลับปรากฏว่าไม่มีการเชิญธงชาติของประเทศไทยขึ้นสู่ยอดเสา 

มีเพียงการเชิญธงสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เท่านั้น ซึ่งนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่าเกิดจากสาเหตุใด

เรื่องนี้เกิดจาก “องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก" (World Anti-Doping Agency : WADA) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาในระดับนานาชาติ ได้ประกาศลงโทษโดยแบนประเทศไทยออกจากเวทีกีฬาโลก ตั้งแต่ 8 ต.ค.2564 จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา พ.ศ.2555 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Code 2021)

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ และจะถูกจำกัดสิทธิหลายประการในการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ รวมถึงสิทธิใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬา อย่างไรก็ดี WADA ยังอนุญาตให้นักกีฬาไทยเข้าแข่งขันได้ เรื่องนี้นับว่าส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศ ความภาคภูมิใจของนักกีฬาไทยและคนไทยอย่างมาก

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงเร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติที่ได้รับสิทธิจัดการแข่งขันมาแล้ว และมีกำหนดที่จะจัดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้หลายรายการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

ในที่สุด รัฐบาลจึงตัดสินใจตรากฎหมายในรูปพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารใช้กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยง เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ แทนการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังเช่นกฎหมายทั่วไป

หลังจากผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี “พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พ.ศ.2564” (พ.ร.ก.ควบคุมฯ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 30 ธ.ค.2564 โดยมีผลใช้บังคับในวันถัดมา และได้รับอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 WADA มีมติให้ Doping Control Agency of Thailand (DCAT) ปลดออกจากรายชื่อผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎของ WADA โดยมีผลทันที

ผู้เขียนจึงขอกล่าวถึงสาระสำคัญของพระราชกำหนดดังกล่าวโดยสังเขป ดังนี้

1.ยกเลิกบทนิยามคำว่า “สารต้องห้าม” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมฯ พ.ศ.2555 และแทนที่ด้วยบทนิยามใหม่ รวมถึงเพิ่มบทนิยามคำว่า “วิธีการต้องห้าม” โดยนิยามของทั้งสองคำให้เป็นไปตามภาคผนวกหนึ่งท้ายอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในการกีฬา ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2564 และแก้ไขบทนิยามคำอื่นๆ ให้ชัดเจน

2.แก้ไขอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา” โดยเฉพาะให้คณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศเกี่ยวกับการพิจารณาและมาตรการการลงโทษทางกีฬา แต่ตัดเรื่องเสนอแนะรัฐมนตรีในการกำหนดรายชื่อของสารต้องห้ามออกไป และกำหนดให้การออกกฎ นโยบาย ข้อบังคับต่างๆ ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกและมาตรฐานสากล และปรับปรุงให้สอดคล้องอยู่เสมอ

3.จัดตั้ง “สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา” เป็นหน่วยงานในการกีฬาฯ มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของ WADA และต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบอื่นใดที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกเกี่ยวกับฐานข้อมูลสารต้องห้าม หลักเกณฑ์ควบคุมการใช้สารต้องห้ามและวิธีการต้องห้าม

4.ห้ามนักกีฬาหรือบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้สารต้องห้าม หรือวิธีการต้องห้ามตามที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับผู้ฝ่าฝืนจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการพิจารณาโทษ” ที่จะมีคำสั่งแจ้งให้ผู้นั้นทราบต่อไป 

ทั้งนี้ ต้องให้บุคคลดังกล่าวมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ มีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงหลักฐานของตนในกระบวนการพิจารณาที่เป็นธรรม

5.การพิจารณาและการแจ้งผลการพิจารณากรณีอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด แต่ต้องไม่ตัดสิทธิขององค์กรต่อต้านฯ ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการทางการกีฬา

6.ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เรื่องสารต้องห้าม ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดโทษทางกีฬา เพื่อตัดสิทธิการแข่งขันกีฬาหรือที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬา หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬา หรืออันเนื่องมาจากการได้รับรางวัลในการแข่งขันกีฬาได้ โดยโทษทางกีฬาดังกล่าวมิใช่โทษอาญา

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา นอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านกีฬาของชาติให้ทัดเทียมสากลอันส่งผลดีต่อนักกีฬาไทยโดยตรงแล้ว 

การที่ได้เห็นธงชาติไทยถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาในงานมหกรรมกีฬาต่างๆ ก็ช่วยสร้างความสุขให้คนไทย ในยามที่ต้องเผชิญกับภาวะตึงเครียดจากเศรษฐกิจ โรคโควิด-19 และความผันผวนในการเมืองโลกปัจจุบันได้อีกทางหนึ่ง.
คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0
สุพัทธ์รดา เปล่งแสง 
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์